คอลัมน์ รู้ไปโม้ด : วัคซีนป้องโควิด-19 – โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

วัคซีนป้องโควิด-19 – อ่านข่าวดี ไทยจะมีวัคซีนป้องกันโควิดจริงหรือ ขอรายละเอียดด้วย

สตางค์

ตอบ สตางค์
คำตอบนำมาจากรายงานของ ข่าวสด ระบุ จุฬาฯ เตรียมทดลองวัคซีนใบยาสูบ ป้องโควิดกับคน หลังใช้กับหนูได้ผลดี

วันที่ 12 มิ.ย. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รักษาการแทนรองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผนการงบประมาณ และสุขภาวะ เปิดเผยว่า

ตามที่จุฬาฯ ได้ทดสอบวัคซีนที่ผลิตจากใบยาสูบชนิดพิเศษที่กำหนดให้สร้างโปรตีน สำหรับทำวัคซีนป้องกันเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งผลิตและทดลองโดย บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม ที่เป็นบริษัทสตาร์ตอัพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเภสัชศาสตร์

โดยมี นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯเป็นผู้รับผิดชอบการทดสอบวัคซีน ซึ่งได้ฉีดทดสอบในหนูนั้น

 

ผลการทดสอบออกมาแล้วว่า หนูทดลองสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่สูงมาก ซึ่งเป็นระดับที่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้

ศ.นพ.นรินทร์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เดิมทีมวิจัยจะทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นคือ ลิง แต่เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่สูงมาก และไม่ได้มีสิ่งที่บ่งบอกว่ามีสิ่งที่ทำอันตรายต่อคน เพราะเป็นวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนจากพืช จึงมีความปลอดภัยสูง ก็จะข้ามไปทดลองฉีดวัคซีนในคน

ขณะนี้อยู่ในระหว่างที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของสภากาชาดไทย เตรียมการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร โดยจะต้องเป็นคนปกติที่มีร่างกายแข็งแรง ประมาณ 20-50 คน คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีก 2 เดือน ก็พร้อมที่จะทดสอบวัคซีน ในคนได้

โดยจะแบ่งการทดลองในคน 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ใช้อาสาสมัคร 20-50 คน เพื่อดูว่า วัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จริงหรือไม่ และภูมิคุ้มกันขึ้นมาจำนวนเท่าไร เกิดผลข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร

ระยะที่สอง ใช้อาสาสมัคร จำนวน 100 คนขึ้นไป และ ระยะที่สาม ใช้อาสาสมัคร 1,000 คนขึ้นไป ทั้งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี

 

ทั้งนี้ มีรายงานจาก BBC ไทยว่า ระหว่างการบรรยายในที่ประชุมวิชาการวาระพิเศษถ่ายทอดทางเพจเฟซบุ๊กของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เล่าถึงความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ว่า

หลังจากได้ทดลองกับหนูสำเร็จแล้ว ได้เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบวัคซีนกับลิง หากได้ผลเป็นที่พอใจก็จะมีการผลิตวัคซีนต้นแบบเพื่อทดลองในคนต่อไป

นพ.เกียรติเปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยวัคซีนได้ประสานกับโรงงานผลิตวัคซีนในต่างประเทศแล้ว หากผลิตได้สำเร็จก็จะถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้ผู้ผลิตวัคซีนในไทย ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่า จะสามารถผลิตวัคซีนจำนวน 10,000 โดส ด้วยต้นทุน 1,000 บาทต่อโดส ได้เร็วสุดในเดือน ส.ค. เพื่อนำไปทดลองในอาสาสมัคร และตั้งเป้าผลิต 60 ล้านโดสภายในปี 2564

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน