สุสาน 3,000 ปีที่อ่างทอง

อยากทราบรายละเอียดของโบราณที่เพิ่งพบที่จ.อ่างทอง

แม่ศรี

ตอบ แม่ศรี

สืบเนื่องกรณีการพบแหล่งฝังศพยุคหินใหม่อายุราว 3,000 ปีที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง โดยเป็นการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ครั้งแรกของจ.อ่างทองซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อวงวิชาการ

ทั้งนี้ สิ่งที่พบประกอบด้วยบนที่ดินจำนวน 17 ไร่ 2 มีอาทิ ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์, ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ ทั้งที่สภาพสมบูรณ์ และชิ้นส่วนที่แตกหัก เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อดินก้นกลมทาน้ำดินสีแดง ผิวขัดมัน, ชิ้นส่วนภาชนะลวดลายขูดขีด, หินดุ สำหรับทำภาชนะดินเผา, เครื่องมือหินขัด, ชิ้นส่วนหอกสำริด, ลูกปัดทำจากกระดูกปลาขนาดใหญ่ เป็นต้น

รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวภายหลังลงพื้นที่สำรวจ ว่า จากการสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้นและพิจารณาโบราณวัตถุที่พบ บ่งชี้ว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงอาจเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ตรงกับยุคหินใหม่ เทียบเคียงกับแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จ.สุพรรณบุรี และแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ดังนั้นจึงเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญสำหรับชาวอ่างทอง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน

อย่างไรก็ตามที่นี่พบภาชนะดินเผาที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากบ้านเก่า และหนองราชวัตร ซึ่งยิ่งทำให้เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ น่าศึกษาอย่างมาก เพราะอาจเป็นลักษณะเฉพาะของคนอีกกลุ่มหนึ่ง

“ถ้าตรงนี้เป็นแหล่งสำคัญ จะเป็นหัวใจระหว่างพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างลพบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งมีชุมชนสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประวัติศาสตร์อ่างทองย้อนกลับไปก่อนยุคอยุธยา นี่คือเหตุผลว่าทำไมแหล่งนี้จึงสำคัญมากๆ ของที่เจอ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากกระดูกสัตว์และสำริด ชี้ว่าอย่างน้อยที่นี่มี 2 สมัย คือ สมัยหินใหม่ และสำริด ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยพบในพื้นที่แถบนี้มาก่อน เมืองโบราณใกล้สุดของแถบนี้ คือ เมืองโบราณคูเมือง ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นเมืองสมัยทวารวดี โดยชั้นล่างสุดเป็นสมัยหินใหม่ เพราะฉะนั้น หากมีการสำรวจเพิ่มเติม แถวนี้อาจมีชุมชนโบราณอีกมาก”

ด้าน จารึก วิไลแเก้ว ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 เผยว่า โบราณวัตถุสำคัญที่พบคือ ชิ้นส่วนหม้อสามขา ซึ่งคล้ายคลึงกับที่พบในแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร และหนองหญ้าไซ สุพรรณบุรี แต่มีลักษณะต่างจากหม้อสามขาที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า นอกจากนี้ ยังมีขวานหินขัดแบบมีบ่า และชิ้นส่วนฉมวกและใบหอกที่ทำจากกระดูกสัตว์รวมถึงสำริด ซึ่งพิจารณาแล้วมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมหม้อสามขานี้ยังพบทางภาคใต้ของไทยลงไปจนถึงรัฐสลังงอร์ และเคดาห์ มาเลเซีย

ยังมีความเห็นจาก รศ.สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ระบุว่า นักวิชาการหลายคนบอกว่าโบราณวัตถุหลายอย่างเหมือนที่พบในแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา นี่อาจเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้หลักฐานชัดเจนมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีมาแล้วด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน