COVID-19 : อาหาร

น้าชาติ โควิดที่ระบาดอยู่ ติดต่อทางอาหารได้ไหม จากอาหารผ่านมาถึงคนกิน

กชกร

ตอบ กชกร

มีโพสต์อธิบายจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “โควิด-19 ติดต่อทางอาหารได้หรือไม่” โดยระบุว่า

“Coronavirus รวมทั้งเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อได้โดยเชื้อมาสัมผัสที่ เยื่อบุปาก คอ จมูก ตา การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดมีเชื้อปนเปื้อนสามารถติดต่อโรคได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าอาหารนำเข้าในจีนเป็นต้นเหตุของการระบาด ถึงแม้ว่าจะพบเชื้อในกุ้งแช่แข็งส่งจากประเทศเอกวาดอร์ที่ต้าเหลียน การพบเชื้อโควิดในเขียงปลาแซลมอนที่ปักกิ่ง การระบาดในนิวซีแลนด์ที่มีผู้หนึ่งทำงานอยู่ในโรงงานเกี่ยวกับอาหารเย็น เป็นเพียงหลักฐานทางอ้อมว่าพบเชื้อในอาหาร

นอกจากนี้ยังพบเชื้อโควิด-19 ในปีกไก่แช่แข็งที่ส่งมาจากบราซิลที่เซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ทำให้มีการเตือนและระมัดระวังการแพร่ระบาดจากอาหารแช่แข็ง

เชื้อโควิด-19 สามารถอยู่ในอาหารแช่แข็งได้เป็นเวลาหลายเดือน อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดว่า การระบาดแต่ละแห่ง ติดมาจากอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ก็ควรจะระมัดระวัง อย่างยิ่ง

ศ.นพ.ยง ระบุด้วยว่า ที่จริงก็อยากจะเห็นพันธุกรรมของไวรัสที่ระบาดที่ปักกิ่งและต้าเหลียนเป็นอย่างไร คล้ายกับพันธุกรรมจากแหล่งใด เหมือนพันธุกรรมที่พบในอาหารแช่แข็งหรือไม่ ยังไม่เห็นการยืนยันอย่างเป็นทางการ

สายพันธุ์ที่ระบาดใหม่ในนิวซีแลนด์จากผู้ป่วย พบว่าเป็น สายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ระบาดในออสเตรเลียและอังกฤษ ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดหรือชัดเจนโยงไปถึงโรงงานอาหารแช่แข็ง ในนิวซีแลนด์

ความปลอดภัยของอาหารจึงจำเป็นจะต้องมีการตรวจหาเชื้อโรค RNA ของไวรัส ซึ่งสามารถตรวจได้ มีความไวสูงมาก เพื่อเป็นการป้องกันและได้ตระหนักถึงความสะอาดและการปนเปื้อนที่อาจจะมากับอาหารได้

เชื้อโควิด-19 มีความคงทนอยู่ได้นานที่อากาศเย็น และถ้าแช่แข็งก็จะยิ่งอยู่นานเป็นหลายเดือน ดังนั้นในทางปฏิบัติ ควรรับประทานอาหารที่สุกสะอาด ความร้อนฆ่าเชื้อโรคได้แน่นอน ควรล้างมือเมื่อจับต้องผลิตภัณฑ์อาหารดิบ เนื้อสัตว์ อาหารแช่แข็ง จะต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง ดูแลเคร่งครัดกับสุขอนามัย ถึงแม้ว่าจะไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศก็ตาม”

ยังมีรายงานจากกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ระบุว่า จากข้อมูลของ Food Authority of Ireland, European Food Safety Authority (EFSA) และ United Sate Food and Drug Administration (USFDA)

รายงานว่ายังไม่พบหลักฐานยืนยันว่าพบเชื้อไวรัสโคโรนาในอาหาร หรือบรรจุภัณฑ์อาหาร ในพื้นผิวดิน น้ำบาดาล น้ำประปา หรือน้ำบริโภค เนื่องจากไวรัสชนิดนี้มีเยื่อหุ้มที่มีความทนทาน ต่อสภาวะแวดล้อมได้ต่ำและถูกทำลายได้ง่ายจากสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน หรือความร้อน ดังนั้นความเสี่ยงที่จะพบเชื้อไวรัสในอาหารจึงค่อนข้างต่ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน