อนุสรณ์สถาน14ตุลา (ตอนแรก)

ขอประวัติอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ รายละเอียดสถาปัตย กรรมด้วย

กล้า

ตอบ กล้า

อนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย หรือ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว หัวมุมถนนราชดำเนินกลาง ตัดกับถนนตะนาวทางด้านใต้ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย จนสามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการลงได้

ภายหลังพิธีพระราชทานเพลิงวีรชนแล้ว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2517 รัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้มีมติ ให้สร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นที่บริเวณสี่แยก คอกวัว โดยในปีถัดมาได้จัดประกวดแบบอนุสรณ์สถานฯ นายเทิดเกียรติ ศักดิ์คำดวง เป็นผู้ชนะเลิศ ต่อมาในปี 2518 สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จวางศิลาฤกษ์บริเวณที่ก่อสร้างของอนุสรณ์สถานฯ แต่หนทางก็เต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ กว่าจะได้ จัดสร้างสำเร็จเป็นรูปธรรมต้องต่อสู้ยืดเยื้อต่อมาอีกถึง 25 ปี

ในปี 2528 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยนำเอารูปปั้นจำลองอนุสาวรีย์มาตั้ง แต่ตัวอนุสรณ์สถานยังคงไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ ผ่านมาจวบจนปี 2541 อันเป็นวาระครบ 25 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา และองค์กรญาติวีรชนได้เจรจากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 เพื่อขอเช่าที่ดินบริเวณสี่แยกคอกวัว โดยให้มูลนิธิ 14 ตุลา เป็นผู้เช่า และในครั้งนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ยินยอมให้เช่า

ปี 2543 จึงสามารถลงเสาเข็มอนุสรณ์สถานได้ และดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2544 ทั้งนี้ก็ด้วยแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องจากขบวนการนิสิตนักศึกษา อดีตนักศึกษาในสมัย 14 ตุลา นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้มาจากเงินบริจาคของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และในโอกาสครบรอบ 28 ปี 14 ตุลา รวมกับเงินบริจาคของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรุงเทพมหานคร และทบวงมหาวิทยาลัย

โดยคณะกรรมการอำนวยการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 สังกัดมูลนิธิ 14 ตุลา มอบหมายให้ผู้ชนะการประกวดแบบในปี 2517 เป็นผู้พัฒนาแบบเดิมให้เหมาะกับยุคสมัย ตามแนวคิด คือ เคารพความจริงของประวัติศาสตร์ และจะต้องเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสาธารณะที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและเนื้อหา ตลอดจนเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อกระตุ้นความสนใจและให้การศึกษาทางการเมืองแก่เยาวชนคนหนุ่มสาว อันจะนำไปสู่การสร้างหรือเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทย

ฉบับพรุ่งนี้ (1ก.ย.) พบกับรูปแบบและสื่อสัญลักษณ์ ในอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน