วันศิลป์ พีระศรี

ขอประวัติความเป็นมาของวันศิลป์ พีระศรี

แก้วไวน์

ตอบ แก้วไวน์

15 กันยายน พ.ศ. 2435 (ค.ศ.1892) คือวันเกิด ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย ผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร

และเพื่อรำลึกคุณูปการที่มีต่อประเทศไทย “วันศิลป์ พีระศรี” จึงกำหนดขึ้นในวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายเกิดของท่าน ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นวันอันมีความหมายยิ่งต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ยังนับเป็นวันสำคัญของวงการศิลปะไทย

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือชื่อเดิม คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่มีผลงานและได้รับรางวัลมากมาย เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อ พ.ศ.2466 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี 2469

ต่อมาได้ร่วมก่อตั้งและเป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยอุดมการณ์เพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์ศิลปินที่จะเติบโตไปเป็นช่างแห่งกรุงสยามในภายภาคหน้า โดยดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ด้วยความรักในงานและลูกศิษย์ ความห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะการช่วยจัดหาทุนทรัพย์และทุนการศึกษา เนื่องจากในยุคข้าวยากหมากแพงนั้นผู้ปกครองไม่สนับสนุนให้ลูกหลานเรียนวิชาศิลปะ ศาสตราจารย์ศิลป์จึงพยายามอย่างสุดความสามารถให้ไทยยังคงมีศิลปินต่อไป

เป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการพร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเองบนแผ่นดินไทย

และถึงแม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันศาสตรจารย์ศิลป์ก็ได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาศิลปะไทยเอาไว้ เพราะเห็นว่าศิลปะไทยมีความงามและเอกลักษณ์ อีกทั้งช่างไทยยังได้สืบทอดความรู้วิชามาอย่างยาวนาน การจะทำให้วงการศิลปะไทยก้าวหน้าก็ต้องไม่ลืมรากเหง้าเดิมที่มีมาแต่โบราณ

จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยประเพณีออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด

ด้วยคุณูปการนานัปการ ศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับการยกย่องเป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่มีผลงานโดดเด่นมากมาย อาทิ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุ สาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย บิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร และมี “วันศิลป์ พีระศรี” 15 กันยายนของทุกปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน