‘ฉันรักธรรมศาสตร์ฯ’ : ที่มา

น้าชาติ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” ใครเป็นคนคิด เกิดขึ้นเมื่อไหร่

ลินดา

ตอบ ลินดา

คำตอบนำมาจากเฟซบุ๊กห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า “วาทะสำคัญนี้ดัดแปลงมาจากบทความของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่า “ชาว มธก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขาสอนให้รู้จักรักคนอื่นด้วย” กลุ่มนักศึกษากิจกรรม “14 ตุลา” จึงได้นำข้อความนี้ดัดแปลงเป็น “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” และเผยแพร่ที่งานนิทรรศการการเมืองในปี 2518

สะท้อนชัดหลักการของประชาคมธรรมศาสตร์ นับแต่มหาวิทยาลัยนี้กำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2477 ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเสมอภาคทางการศึกษา และไม่เคยทอดทิ้งอุดมการณ์เพื่อประชาชน”

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เขียนวลีอันเป็นที่มาของวาทะดังกล่าวในบทความ“มองนักศึกษา มธก. ผ่านแว่นขาว” เมื่อปี 2496 ความตอนหนึ่งว่า

“นักศึกษาและบัณฑิตของ มธก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะมีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่นๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปาทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น ชาว มธก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”

สำหรับ มธก. เกิดขึ้นสืบเนื่องจากคณะราษฎรก่อการปฏิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พร้อมประกาศหลัก 6 ประการ โดยประการที่ 6 ระบุว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” สถาบันศึกษาแบบใหม่ที่เปิดกว้างให้ประชาชนชาวสยามได้รับการศึกษาชั้นสูง โดยเฉพาะที่จะรองรับการปกครองบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีควบคู่ไปกับการปฏิวัติ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการตราพระราชบัญญัติ พ.ศ.2476 ขึ้น ให้จัดตั้ง “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการ และบรรดาวิชาอื่นๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 สถานที่ตั้งคือที่ตั้งเดิมของโรงเรียนกฎหมาย ริมถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา

ปรีดี พนมยงค์ มีบทบาทเป็นผู้ร่างโครงการ หาที่ตั้ง และวางหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประศาสน์การคนแรก (พ.ศ.2477–2490) โดยตั้งใจให้เป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชาให้ราษฎรมีความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา เงินทุนของมหาวิทยาลัยอาศัยเงินค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาและดอกผลของธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมซึ่งปรีดีเป็น ผู้ก่อตั้ง โดยให้มหาวิทยาลัยถือหุ้น 80% นอกจากนี้ปรีดีได้ยกกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์นของตนให้มหาวิทยาลัยเพื่อพิมพ์ตำรา วันที่ 9 เมษายน 2478 มธก.ขอซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นที่ของทหาร และปรับปรุงอาคารเดิม พร้อมทั้งสร้างตึกโดม

กระทั่ง 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ปรีดีต้องลี้ภัยการเมือง รัฐบาลตัดคำว่า วิชา และ การเมือง ออก เหลือเพียงชื่อ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เพื่อไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แล้วขายหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัยจนไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล ความเป็นตลาดวิชาหมดไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน