หนูน้อยเอาใจใส่ดร.ฟลอรินา อูเซฟอฟสกี จากมหาวิทยาลัยเบน-กูเลียน แห่งเนเกฟ ประเทศอิสราเอล ศึกษาพัฒนาการทางความรู้สึกของทารกก่อนอายุครบ 1 ขวบ โดยแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ช่วง ให้เด็กๆ อายุระหว่าง 5-9 เดือน จำนวน 27 คน ดูคลิปสถานการณ์จำลองของภาพการ์ตูนวัตถุรูปทรงสี่เหลี่ยม มีดวงตา กำลังขึ้นทางลาดไปยังจุดหมายบนภูเขาสูง เมื่อถึงด้านบนเจอวัตถุทรงกลมหน้าตาท่าทางเป็นมิตร และทั้งคู่พากันลงจากภูเขามาพร้อมกัน

อีกสถานการณ์เป็นวัตถุรูปสี่เหลี่ยมกำลังขึ้นเขาเหมือนสถานการณ์แรก แต่ครั้งนี้พอถึงจุดหมายกลับพบวัตถุทรงกลมที่ไม่เป็นมิตร หนำซ้ำยังตีและรังแกวัตถุสี่เหลี่ยมจนต้องหนีลงเขา

จากนั้นนำภาพการ์ตูนวัตถุทรงสี่เหลี่ยม 2 รูป รูปหนึ่งหน้าตาท่าทางมีความสุขจากสถานการณ์แรก อีกรูปเป็นวัตถุสี่เหลี่ยมท่าทางเศร้าหลังโดนวัตถุทรงกลมไล่ลงเขา ปรากฏว่าเด็กๆ มากกว่าร้อยละ 80 เลือกวัตถุสี่เหลี่ยมที่ดูเศร้าสร้อย

ในทางกลับกันเมื่อนำรูปการ์ตูนวัตถุทรงสี่เหลี่ยม 2 แบบไปให้เด็กๆ ในช่วงอายุเท่ากัน แต่ไม่เคยดูคลิปสถานการณ์จำลองเรื่องราวของสี่เหลี่ยมและทรงกลม พบว่าเด็กทั้งหมดในกลุ่มนี้เลือกรูปสี่เหลี่ยมที่ดูมีความสุข

การเลือกที่แตกต่างบ่งชี้ให้เห็นว่าทารกเข้าใจเหตุการณ์ซับซ้อน รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำ และมีความรู้สึกร่วม หรือเข้าใจความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ ที่สำคัญยังเป็นหลักฐานหักล้างทฤษฎีเดิมๆ ที่ระบุว่าเด็กจะเริ่มมีพัฒนาการทางความรู้สึกและการเอาใจใส่หลังจากอายุ 1 ขวบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน