ทอดกฐิน

น้าชาติ การทอดกฐินมีตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหรือเปล่า

ปัทม์

ตอบ ปัทม์

มีเรื่องราวเล่าว่า ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี ก็พอดีวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์ทั้ง 30 รูป จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุซึ่งอยู่ระหว่างทาง ครั้นออกพรรษาแล้วจึงออกเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดา เป็นการเดินทางด้วยความยากลำบากเพราะฝนยังตกชุก

เมื่อมาถึงวัดเชตวัน พระพุทธเจ้าตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทราบความยากลำบากนั้นจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินได้ และภิกษุ ผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ 5 ประการ ภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4) คือ

1.ไปไหนไม่ต้องบอกลา 2.ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน 3.ฉันคณะโภชน์ได้ (ล้อมวงกันฉันภัตตาหารได้) 4.เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์และอธิษฐานโดยไม่ต้องอาบัติ (ทรงอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา) 5.จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว

กฐิน เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่า ทอดกฐิน หรือกรานกฐินจัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น

สำหรับการทำผ้ากฐิน เมื่อโบราณโน้นวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่สงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด จัดเป็นสังฆกรรมคือกิจของพระสงฆ์โดยจำเพาะ ทั้งนี้ย้อนไปสมัยพุทธกาล ผ้าเป็นสิ่งหายาก พระภิกษุต้องไปหาเก็บมาจากที่ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าบังสุกุล หรือผ้าที่พิจารณามาจากผ้าห่อศพ จากนั้นนำมารวมกันและช่วยกันเย็บเป็นจีวร แต่ด้วยจำนวนอันจำกัด จึงทำได้เพียงผืนเดียว แล้วพระภิกษุเหล่านั้นจะตกลงกันมอบจีวรชุดนี้ให้แก่พระภิกษุที่มีผ้าเก่าที่สุด

อย่างไรก็ตาม การได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากราน กฐินนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธา จึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐินขึ้น และด้วยการถวายผ้ากฐิน จัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอุปโลกน์ยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และกาลทานที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน คณะสงฆ์วัดหนึ่งๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณีนิยมของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

ปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่ให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน