อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกือบถูกรื้อ (ตอนจบ)

ฉบับวานนี้ (16 พ.ย.) “ตรีทิพย์” สงสัยว่าสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคยจะถูกทุบทิ้งไหม เมื่อวานตอบแล้วว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2495 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีมติจัดสร้างอนุสาวรีย์ให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สี่แยกถนนราชดำเนินตัดกับถนนดินสอ ซึ่งก็ต้องรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก เพื่อก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ขึ้นแทนที่

วันนี้มาดูเหตุ ที่อนุสาวรีย์ประชา ธิปไตยยังคงอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน ซึ่งก็มีคำตอบอยู่ในบทความ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เกือบถูกรื้อ เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้รัชกาลที่ 7” โดย เมฆา วิรุฬหก เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com โดยบทความดังกล่าวอ้างอิงข้อเขียน “การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับแนวคิดกษัตริย์นักประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494” โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แม้คณะกรรมการฯ จะประกอบด้วยบุคคลที่มีส่วนในการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ด้วย แต่การคัดค้านการสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าขึ้นแทนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเรื่องยาก ซึ่งศรัญญูกล่าวว่าเนื่องมาจาก “กรรมการฯ ส่วนใหญ่มีแนวคิดและอุดมการณ์โน้มเอียงไปทางอนุรักษนิยม”

ด้านจอมพล ป. เมื่อได้ทราบว่าคณะกรรมการฯ ต้องการรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้า ก็มิได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน แต่เป็น พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น และหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่มของคณะราษฎรที่ทำหนังสือถึงจอมพล ป. ขอให้หาทำเลใหม่ในการจัดสร้างแทน แต่การคัดค้านไม่เป็นผล

เหตุที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน ศรัญญูกล่าวว่า เป็นเพราะโครงการประสบปัญหาขาดงบประมาณ แม้ฝ่ายราชสำนักจะพยายามผลักดันให้มีการสร้างอย่างเร่งด่วน แต่กระทรวงการคลังที่พล.ต.ประยูร นั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วยนั้นไม่อาจจัดหาเงินมาได้ และเสนอให้ใช้งบในปี พ.ศ.2496 แทน คณะกรรมการฯ จึงไปขอให้จอมพล ป. นำงบจากกองสลากมาใช้ แต่จอมพล ป. อ้างว่า เงินสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ใช้ไปหมดแล้ว

สุดท้าย พล.ต.บัญญัติจึงทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2496 ให้ระงับการจัดสร้างไว้ก่อนเนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งจอมพล ป. รับทราบ พร้อมแสดงความเห็นว่า “เมื่อยังไม่มีเงินก็ให้รอไปก่อน ส่วนการสร้างที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลางนั้น ดูจะไม่เหมาะสม”

ศรัญญูกล่าวว่า โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ได้เงียบหายไป จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีการเสนอให้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมกับให้สร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ร่วมอยู่ด้วย แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติให้รื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามแนวทางเดิมอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี โครงการรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของรัฐบาลถนอมก็มิได้เกิดขึ้น และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลถนอมก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ประสบผลสำเร็จ (แล้วเสร็จในปี 2523 หลังรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ อนุมัติในปี 2517) ซึ่งศรัญญูกล่าวว่า เป็นเพราะอุดมการณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยของพระปกเกล้าคือพลังสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน