เป็ดเหลือง (ตอนจบ) – ฉบับวานนี้ (23พ.ย.) “แบล็กมิน” ถามว่า เป็ดเหลืองของเล่น มาเกี่ยวการเมืองได้ไง เมื่อวานว่ากันถึงจุดเริ่มต้นเพื่อแบ่งปันวัฒนธรรมและความทรงจำวัยเด็ก โดยศิลปินชาวดัตช์ โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน (Florentijn Hofman) นำประติมากรรมเป็ดเหลืองตัวยักษ์สัญจรมาลอยน้ำกลางอ่าววิกตอเรีย ฮ่องกง และต่อมานักเคลื่อนไหวชาวจีนนำภาพเป็ดยางสีเหลืองมาตัดต่อแทนที่รถถังในภาพ Tank Man ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก

วันนี้มาตามรอยเส้นทาง จากตุ๊กตาสู่สัญลักษณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง BBC ไทย รายงานเรื่องนี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2558 มีเหตุการณ์อย่างน้อย 5 ครั้งที่นำเป็ดยางมาเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อสะท้อนปัญหาสังคมอย่างการคอร์รัปชั่น เสรีภาพ รวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย

26 เม.ย. 2558 – เซอร์เบีย ประชาชนและนักเคลื่อนไหวกลุ่ม“Let Us Not Drown Belgrade” เดินขบวนพร้อมเป็ดยางสีเหลืองสูง 2 เมตร คัดค้านการลงนามระหว่างรัฐบาลกับบริษัทอีเกิล ฮิลส์จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในกรุงเบลเกรดมูลค่าราว 9.1 หมื่นล้านบาท

ในคอลัมน์ที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก อธิบายว่า ในภาษาเซอร์เบียน คำว่า เป็ด (patka) มีความหมายสแลงว่าทุจริต ซึ่งวลีที่ผู้ชุมนุมใช้ก็คือ มาบอกเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นให้พวกเขาได้รู้

26 มี.ค. 2560 – รัสเซีย เป็ดยางปรากฏในภาพข่าวจากกรุงมอสโก ระหว่างการประท้วงนำโดยนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้พยายามลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ถูกตัดสิทธิ์ โดยการประท้วงจัดขึ้นที่จัตุรัสพุชกิน

9 ธ.ค. 2560 – โคโซโว เป็ดยางสีเหลืองถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมใกล้กับสำนักงานใหญ่รัฐบาลในกรุงพริสตินา เนื่องในวันต่อต้านการทุจริตสากล

27 มิ.ย. 2562 – สหราชอาณาจักร ชายสวมหน้ากากรูปใบหน้านายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นั่งอยู่บนกองเป็ดยางนับพันตัวด้านหน้าสำนักงานนายจอห์นสันในกรุงลอนดอน ระหว่างการประท้วงของกลุ่มที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป

2563 – เซอร์เบีย เป็ดยักษ์สีเหลืองถูกนำมาใช้อีกครั้งที่หน้ารัฐสภา เรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งวันที่ 21 มิ.ย. ต่อต้านประธานาธิบดีวูชิชที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์สกัดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของประธานาธิบดีหลังจากการเลือกตั้งถูกเลื่อนมาจากเดือนมี.ค.

17-18 พ.ย. 2563 – ไทย นักศึกษาและประชาชนในนามกลุ่ม “ราษฎร” นำเป็ดยางมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่รัฐสภาขณะมีการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับโดยกลุ่มราษฎรเรียกร้องให้ทั้ง ส.ส. และส.ว. มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่นำเสนอโดยไอลอว์

ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็ดยางสีเหลืองถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการชุมนุมทางการเมือง เช่น การต่อต้านการคอร์รัปชั่น รัฐบาลของประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟฟ์ (บราซิล) และการตัดต่อรูปเป็ดยางสีเหลืองแทนรถถัง 4 คันที่มีชายคนหนึ่งยืนประจันหน้า โดยภาพตัดต่อดังกล่าวสะท้อนถึงการเซ็นเซอร์ในจีน

ดูเหมือนว่าบทบาทของเป็ดยางสีเหลืองจะไปไกลเสียแล้วจากจุดเริ่มต้นตามเจตนารมณ์ของศิลปินโฮฟมัน ผู้นำเป็ดยางตัวยักษ์ไปลอยน้ำสร้างรอยยิ้มความสุขให้คนใน 14 เมืองระหว่างปี 2550-2556

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน