มหาเถรสมาคม

มหาเถรสมาคมมีความเป็นมาอย่างไร บทบาทหน้าที่ทำอะไร

พี่จุก

ตอบ พี่จุก

เว็บไซต์มหาเถรสมาคม mahathera.onab.go.th ให้รายละเอียดไว้ดังนี้

มนุษย์บนแผ่นดินที่เป็นอาณาเขตประเทศไทยในปัจจุบัน มีความศรัทธาเคารพนับถือพระพุทธศาสนามาเนิ่นนานกว่า 1,000 ปีแล้ว แนวทางการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม นโยบาย แผนงาน ตลอดจนหลักการปกครองและบริหารของประเทศจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการของทางพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้นกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวตลอดมา

ผู้นำของประชาชนบนแผ่นดินนี้ กล่าวคือพระมหากษัตริย์ในแต่ละยุคสมัย ต่างน้อมถวายพระราชศรัทธา พระราชสักการะ และอุทิศพระองค์เพื่ออุปถัมภ์บำรุงยกย่องเชิดชูพระพุทธศาสนาอย่างเต็มความสามารถ ต่างล้วนถือว่างานพระพุทธศาสนาเป็นพระราชกิจที่สำคัญยิ่ง จึงทรงบริหารจัดการกิจการพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เองอย่างเข้มแข็งเอาจริงเอาจัง ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการงานของราชอาณาจักร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงมอบงานบริหารกิจการพระพุทธศาสนาแด่องค์สมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้คณะสงฆ์บริหารงานพระพุทธศาสนาและจัดการปกครองดูแลกันเอง โดยที่ภาครัฐทำหน้าที่อุปถัมภ์อำนวยความสะดวก สนองงาน และถวายการรับใช้ในสิ่งที่ขัดข้องในการดำเนินงาน

ปัจจุบัน การบริหารงานกิจการพระพุทธศาสนา เป็นความรับผิดชอบโดยตรงสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ดำเนินงานโดยคณะสงฆ์ไทย เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวไทยและชาวโลกทั้งมวล กิจการและงานของพระพุทธศาสนาทุกด้านจะจำเริญ ก้าวหน้า มั่นคง เข้มแข็ง ประการใด จึงเป็นความรับผิดชอบสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย และคณะสงฆ์ไทยผู้ทำหน้าหลักในการบริหารกิจการพระพุทธศาสนานี้ ปัจจุบันเรียกว่า “มหาเถรสมาคม”

คำว่า มหาเถรสมาคม เริ่มใช้เมื่อมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) และได้เปลี่ยนชื่อเรียกมหาเถรสมาคมเป็น สังฆสภา ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ก่อนจะกลับมาเรียกองค์กรบริหารกิจการพระพุทธศาสนาสูงสุดของประเทศไทยว่า มหาเถรสมาคม อีกครั้ง ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505, พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560

การจัดตั้งมหาเถรสมาคมขึ้นตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นศูนย์กลางที่รวมพระสงฆ์ทุกกลุ่มให้มาทำงานร่วมกัน ให้มีองค์กรมหาเถรสมาคมรับผิดชอบทำหน้าที่ทุกอย่างเพื่อเกื้อหนุนพระธรรมวินัยตามรูปแบบของการจัดองค์กรบริหารสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการรวมพลังของพระสงฆ์ทุกกลุ่ม การกระจายอำนาจ ร่วมรับผิดชอบร่วมตัดสินใจด้วยกัน และมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการทำงานทุกขั้นตอน

กรรมการมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย 1.สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง 2.สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และ 3.พระราชาคณะที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีจำนวนไม่เกิน 12 รูป

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ระบุอำนาจหน้าที่มหาเถรสมาคมดังนี้ 1.ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อยดีงาม 2.ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร 3.ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการและการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ 4.รักษาหลักการพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา 5.ปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.นี้ หรือกฎหมายอื่น

กองงานในสังกัดมหาเถรสมาคม 1.กองบาลีสนามหลวง 2.กองธรรมสนามสนามหลวง 3.กองงานพระธรรมทูต และ 4.ศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.) ทั้งนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน