วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ขอทราบความเป็นมาของวันพ่อขุนรามคำแหง

ตุ้มเม้ง

ตอบ ตุ้มเม้ง

สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนด “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ขึ้น ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2531 โดยถือวันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2526 เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”

ต่อมาคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ใหม่ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเสนอว่าควรเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2376

มีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเห็นชอบด้วย จึงกำหนดให้ วันที่ 17 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”

ทั้งนี้ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตั้งอยู่ ณ อุทยานประวัติศาสตร์จังหวัดสุโขทัย ลักษณะพระบรมรูปประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังศิลาบาตร ขนาดเท่าพระแท่นจริงยาว 4 เมตร กว้าง 2.88 เมตร พระหัตถ์ขวาทรงถือสมุดไทยอันหมายถึงสรรพวิทยาการต่างๆ ที่ทรงรอบรู้ พระหัตถ์ซ้ายแสดงลักษณะทรงสั่งสอนพสกนิกรหรือขณะออกว่าราชการ พระแท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์

ขนาดพระบรมรูป 2 เท่าพระองค์จริง เฉพาะพระองค์สูง 3 เมตร หล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาดน้ำหนักประมาณ 3 ตัน ลักษณะพระพักตร์อย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น เครื่องฉลองพระองค์และศิราภรณ์ยึดถือลักษณะจากเทวรูปของศิลปสมัยสุโขทัย ผู้ปั้นหุ่นพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ นายสนั่น ศิลากรณ์ นายช่างเอกของกรมศิลปากร ศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี

สำหรับเหตุการณ์ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีบันทึกไว้ว่า เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขณะผนวชอยู่ ทรงค้นพบเมื่อวันกาบสี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จ.ศ.1214 ตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม ค.ศ.1834 หรือ พ.ศ.2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด มีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

จารึกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ.2546 โดยยูเนสโกบรรยายว่า “[จารึกนี้] นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน