แตะเอีย-อั่งเปา (ตอนจบ) – ฉบับวานนี้ (15ก.พ.) “เฮีย” ถามว่า ธรรมเนียมแจก อั่งเปา-แตะเอียตรุษจีนเป็นมาอย่างไร เมื่อวานตอบที่มาจาก สมัยโบราณและตำนานเล่าขาน วันนี้มาอ่านกันอีกตำนานหนึ่ง ทั้งนี้ข้อมูลนำมาจากหนังสือ เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ โดย ถาวร สิกขโกศล อีกตํานานหนึ่งกล่าวว่าในทะเลตะวันออก มีถ้ำที่โคนไม้ บนภูเขาในทะเลนั้นเป็นที่รวมของภูตผีปีศาจ ซึ่งปกติจะมีเทพทวารบาลเฝ้าคุมอยู่ แต่พอถึงวันสิ้นปี เทพผู้เฝ้าคุมกลับสวรรค์ บรรดาผีร้ายซึ่งมีสัตว์ประหลาดชื่อ “เหนียน-ปี” เป็นหัวหน้าจะออกอาละวาดตามบ้านคน ผู้คนจึงจุดไฟสว่างทั้งคืน “เฝ้าปี” เพื่อป้องกันภูตผีและสัตว์ร้าย ผีเหล่านี้กลัวแสงไฟจึงลอบเข้า ห้องนอนเด็ก เมื่อเห็นเงินห่อกระดาษแดงข้างหมอนก็ดีใจ หยิบแล้วโลดแล่น ออกจากห้อง ไปหาความสนุกสนานที่อื่นต่อโดยไม่ทําร้ายเด็ก จึงเกิดประเพณีเอาเงินห่อกระดาษแดงวางไว้ข้างหมอนเด็กในคืนวันสิ้นปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผีทําร้ายเด็ก

วิเคราะห์ตามหลักวิชาคติชนวิทยา (Folklore) แล้วเห็นได้ว่า ช่วงสิ้นปีผู้ใหญ่จะตามไฟอยู่ เฝ้าปี เด็กมักจะทนง่วงไม่ไหวต้องเข้าไปนอนก่อน ในช่วงคืนสําคัญเช่นนี้ ความสุขและสวัสดิภาพของลูกหลานเป็นเรื่องสําคัญยิ่ง ผู้ใหญ่จึงนิยมเอาเหรียญกษาปณ์ร้อยด้ายแดงหรือห่อด้วยกระดาษแดงไปวางไว้ข้างหมอนหรือขาเตียงเพื่อเป็นของขวัญวันปีใหม่ ให้เด็กได้รับทันทีเมื่อตื่นขึ้นมา และเพื่อเอาเคล็ดขับไล่อุปัทวันตรายด้วย

เนื่องจากเป็นเงินก้นถุงท้ายปีและขับไล่อุปัทวันตราย จึงเรียกว่า ยาซุ่ยเฉียน ซึ่งมีความหมายได้ 2 นัยดังกล่าว การขับไล่อุปัทวันตรายจากผีร้ายคงเป็นความเชื่อเก่าแก่ แต่ต่อมาจุด มุ่งหมายสําคัญของเงินคือเป็นเงินขวัญถุงท้ายปีแก่ลูกหลาน

การให้เงินแตะเอียแก่เด็กน่าจะเพื่อให้เด็กมีเงินเล็กๆ น้อยๆ ซื้อของกินของเล่นในเทศกาลพิเศษนี้ โดยจุดมุ่งหมายสําคัญมี 2 ประการคือ เป็นสิริมงคลแก่เด็ก และเป็นเงินขวัญถุงให้เด็กรู้จักเก็บหอมรอมริบ มีเงินติดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ฟุ่มเฟือยใช้จนหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลสําคัญอันเป็นมงคลเริ่มต้นปีใหม่ เพื่อเป็นรากฐานที่ดีแก่ชีวิตในปีใหม่ที่จะมาถึง เงินแตะเอียแต่ละปีนี้ ถ้าเก็บไว้ทุกๆ ปีตั้งแต่ยังเด็กเล็กอยู่จนถึงโตเป็นผู้ใหญ่ก็คงพอเป็นทุนรอนตั้งตัวได้

การให้ของ “ยาซุ่ย-กดท้ายปี” หรือ “ตบท้ายปี” มิจําเป็นต้องให้เงินเสมอไป ซูซื่อ (พ.ศ.1580-1644) กวีเอกสมัยราชวงศ์ ซ่งเหนือ ให้จานฝนหมึกแก่ซูไหมบุตรชายเป็น “ยาซู่ยอู้ ของขวัญตบท้ายปี” พร้อมกับจารึกคําเตือนใจ 4 วรรค วรรคละ 7 คํา (อักษร) มีใจความให้ใช้จานฝนหมึกนี้เข้าสู่วิถีแห่งการศึกษาด้วยความกระหาย ใฝ่ก้าวหน้าอย่างสำรวมระวัง บริหารทรัพย์อย่างรู้แบ่งปันแก่ปวงชน และชำระคดีความอย่างยุติธรรมให้โอกาสผู้ผิดกลับตัวเป็นคนดี

สาระสำคัญของประเพณีนี้คือ การให้สิ่งที่มีคุณค่าอันจะช่วยพัฒนาเด็กเติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพของครอบครัวและสังคม อาจเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ หรือวาทะอันทรงคุณค่าน้อมนำเด็กไปสู่ความดีงาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน