พระราชพิธีสังเวยพระป้าย

พระราชพิธีสังเวยพระป้ายตรุษจีนเป็นอย่างไร

ผึ้งน้อย

ตอบ ผึ้งน้อย

นับเป็นพระราชพิธีในเทศกาลตรุษจีนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และให้ผู้แทนพระองค์ ไปประกอบพิธี ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

“พระป้าย” นั้น ชาวจีนเรียกว่า เกสิน หมายถึง ป้ายชื่อของบรรพบุรุษ บุพการีที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน เป็นประเพณีธรรมเนียมจีนที่เคารพนับถือ กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ การบวงสรวงบูชาแสดงว่าเป็นคนกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติ

พระป้ายมีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรก คือพระป้ายที่เป็นพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพ ศิรินทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จารึกไว้เป็นภาษาจีนบนแผ่นไม้จันทน์ปิดทอง ขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน พระป้ายทั้ง 2 คู่ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลาย ลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่ง เวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน

อีกแห่งเป็นพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลาย ลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง 5 ชั้น ตั้งอยู่ 2 ข้าง จารึกพระปรมาภิไธยด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 เผยแพร่เรื่อง การเชิญพระบรมรูปและ พระป้าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระอนุสร คำนึงถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะในเวลาที่เสด็จมาประทับอยู่วังสวนดุสิต ยังไม่มีสิ่งที่จะเป็นที่ทรงนมัสการ ระลึกถึงพระเดชพระคุณ จึงทรงพระดำริว่า พระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งมหิศรปราสาทในพระบรมมหาราชวังนั้น ควรจะเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อจะได้ทรงนมัสการสักการบูชาสืบไป”

พระราชพิธีสังเวยพระป้ายนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดการแต่เดิมจะสังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญก่อน 1 วัน ซึ่งตรงกับวันไหว้ของจีน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถานจะสังเวย ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของจีน ซึ่งเป็นวันตรุษจีน

เครื่องสังเวยเป็นเครื่องคู่ ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่งขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษผ้าสีชมพู ประทัด ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง กำหนดการพระราชพิธี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึง จะทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ และธูปหางปักที่เครื่องสังเวย พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตรดุริยางค์ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ จะทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทองเมื่อธูปที่เครื่องสังเวยหมดดอก เจ้าหน้าที่จึงถอนเครื่องสังเวยและนำวิมานเทวดาไปปักในแจกันที่ใต้เครื่องบูชาพร้อมทั้งผูกผ้าสีชมพู เป็นเสร็จพิธี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน