วันสตรีสากล

วันสตรีสากลมีความเป็นมาอย่างไร ทำไมต้อง 8 มีนาคม

กุล

ตอบ กุล

วันสตรีสากล (International Women’s Day) หรือเดิมเรียก วันสตรีแรงงานสากล (International Working Women’s Day) เป็นหนึ่งในความพยายามส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กำหนดให้ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี

ทำไมต้อง 8 มีนาคม คำตอบต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พากันลุกฮือเรียกร้องชั่วโมงการทำงานที่สั้นลง ค่าจ้างที่ดีขึ้น และสิทธิต่างๆ แต่สุดท้ายมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เพราะมีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)

ผ่านมาถึงปี ค.ศ. 1907 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าเมืองชิคาโก รวมตัวกันประท้วงการเอารัดเอาเปรียบกดขี่ทารุณของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส กรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

ความอัดอั้นตันใจทำให้ คลารา เซตกิน (Clara Zetkin) นักการเมืองสตรีสังคมนิยมชาวเยอรมัน ปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 เรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

แม้การเรียกร้องครั้งนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ มีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่กิจกรรมของ คลารา เซตกิน ก็จุดประกายให้สตรีทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

และวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 ก็มีแรงงานหญิงจำนวนมากกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยชูคำขวัญ “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” หมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมไปกับคุณภาพชีวิตที่ดี

กระทั่ง 8 มีนาคม 1910 ความพยายามของกรรมกรสตรีก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ที่ประชุมประกาศรับรองข้อเรียกร้องของกรรมกรสตรีในระบบสาม 8

คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน รวมถึงปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็ก

ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ คลารา เซตกิน ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” โดยในปีถัดมาหลายประเทศในยุโรปได้จัดงานวันสตรีสากลเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 มีนาคม มีประชาชนนับล้านเข้าร่วมเดินขบวนในวันนี้

และวันที่ 8 มีนาคม 1917 (23 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินจูเลียน) ผู้หญิงรัสเซียได้ออกมาเดินขบวนเนื่องในวันสตรีสากล พร้อมกับการประท้วงเพื่อ “ขนมปังและสันติภาพ” จากการที่ทหารรัสเซียต้องเสียชีวิตไปกว่า 2 ล้านรายในสงครามโลกครั้งที่ 1 การเดินขบวนและผลสืบเนื่อง ต่อมา แม้รัฐบาลของกษัตริย์พยายามกำราบ แต่ประชาชนยังคงลุกฮือต่อต้านอย่างแข็งขัน จนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกขับออกจากราชบัลลังก์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน