จาก‘สูยะ’ถึง‘บรมราชาภิเษก’

บรมราชาภิเษก ไทยรับอิทธิพล มาจากที่ใด

มานี

ตอบ มานี

มีคำตอบอยู่ในบทความเรื่อง “ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากอิทธิพลอินเดียถึงไทย” โดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ว่า

การขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์จำเป็นที่จะต้องมีการประกาศสถานภาพความเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ให้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และราษฎรภายใต้พระราชอำนาจ รวมถึงรัฐหรือเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบขัณฑสีมาได้รับทราบ ดังนั้นจึงมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งมีเนื้อหาอันแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจแห่งสถานภาพที่สูงสุดด้านการปกครองในราชอาณาจักร

พิธีบรมราชาภิเษกในไทย สันนิษฐานว่ารับรูปแบบมาจาก “พิธีราชสูยะ” ของอินเดีย ประกอบด้วยพิธี 3 อย่าง คือ การอภิเษก หรืออินทราภิเษก การกระทำสัตย์ และการถวายราชสมบัติ โดยการพิธีจะมีขึ้นในพระราชมณเฑียร หรือท้องพระโรง

ตรงกลางห้องตั้งราชสีหาสน์ คือพระเก้าอี้ที่ประทับซึ่งทำด้วยไม้มีพนัก ที่วางพระกรจำหลักหัวราชสีห์ทั้ง 2 ข้าง หรือที่ขาเก้าอี้สลักรูปราชสีห์นั่งชันเข่า ที่ราชสีหาสน์ลาดด้วยพรมขนสัตว์อย่างดีเนื้อละเอียดปูทับด้วยหนังราชสีห์ ตั้งอยู่หน้าบัลลังก์ที่มีบันได 3 ขั้น สองข้างของราชสีห์นั้นด้านหนึ่งตั้งกูณฑ์ (เตาไฟ) มีปุโรหิตกับฐานานุกรมอยู่ประจำ อีกด้านหนึ่งตั้งตั่งไม้มะเดื่อ (ตั่งอุทุมพร) ซึ่งทำอย่างเกลี้ยงๆ เป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่สรงน้ำมูรธาภิเษก

ถัดออกมาเป็นพวกหัวหน้าวรรณะทั้งสี่ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร มีทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงนั่งเรียงเป็นวงโค้งไปข้างหน้าแบบอัฒจันทร์

พิธีราชสูยะมีขั้นตอนคล้ายคลึงกับพิธีบรมราชาภิเษกของไทย เริ่มจากเมื่อได้ฤกษ์ตามที่พระโหรากำหนด พระมหากษัตริย์จะทรงเครื่องขาว หรือเรียกว่าเครื่องถอด ขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิบนตั่ง จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเหล่านักบวชและผู้ทรงภูมิด้านวิทยาคม เช่น พราหมณ์ ราดเนยเพื่อก่อเพลิงกองกูณฑ์ (กองเพลิง) ส่วนโหรร่ายมนต์ และปุโรหิตบูชายันต์

จากนั้นประกาศขอพรต่อเทพเจ้า เสร็จแล้วหัวหน้าวรรณะทั้งสี่โปรยน้ำมูรธาภิเษกสรงองค์พระมหากษัตริย์ น้ำอภิเษกนั้นนำมาจากสถานที่อันเป็นมงคลต่างๆ

พระมหากษัตริย์จะทรงเครื่องศิราภรณ์ ได้แก่ สวมกะบังหน้า (ต่อมาคือพระมหามงกุฎ) ทรงพระภูษา ห่มผ้ารัตกัมพล แล้วเสด็จประทับบนบัลลังก์ยืนอยู่บนหนังราชสีห์ ซึ่งปูไว้เบื้องหน้าราชสีหาสน์ ขณะนั้นปุโรหิตประกาศพระนามและพระมหากษัตริย์ทรงกระทำสัตย์สาบานที่จะปกครองบ้านเมืองโดยธรรม จากนั้นเสด็จขึ้นประทับบนราชสีหาสน์ พราหมณ์ถวายน้ำมนต์และสวดถวายพร แล้วถวายเครื่องราชสมบัติ

เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับราชสมบัติแล้วทรงพระดำเนินลงจากราชสีหาสน์ เสด็จขึ้นรถทรงแห่รอบราชมณเฑียร ขั้นตอน ดังกล่าวอาจเป็นต้นแบบของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครของพระมหากษัตริย์ไทย จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นไปประทับยังราชสีหาสน์อีกครั้ง

พราหมณ์ 5 คน แต่งตัวด้วยหนังกวาง เรียก มฤคจัมขัน เข้าไปถวายบังคมเรียงตัว เพื่อแสดงว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพราหมณ์เช่นกัน ขั้นตอนนี้สันนิษฐานว่าตรงกับการถวายสายธุรำปวีต อันเป็นสัญลักษณ์แห่งพราหมณ์ ต่อจากพราหมณ์ก็เป็นพวกบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่และหัวหน้าวรรณะทั้งสี่ที่อยู่ในโรงพระราชพิธีทยอยเข้าไปถวายบังคมจนหมด จึงเสร็จพิธีราชสูยะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน