โรงพยาบาลสนาม

โรงพยาบาลสนามต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

มธุสร

ตอบ มธุสร

มีคำอธิบายถึง “โรงพยาบาลสนาม-ร.พ.สนาม” ในการแถลงของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. ระบุว่า ประเด็นสำคัญของ ร.พ.สนาม คือ 1. ต้องมีความปลอดภัย เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง ทั้งระบบตัวอาคาร ระบบจัดการน้ำเสีย การจัดการอากาศ ดูทิศทางการไหลของอากาศ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีการจัดโซนนิ่งให้ห่างจากพื้นที่

และ 2. โรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ 70-80% ไม่มีอาการ ถ้าคนไข้จำนวนมากแล้วไปอยู่ ร.พ.ปกติ จะทำให้เตียงที่เตรียมไว้รักษาคนในชุมชนไม่มีพื้นที่ บุคลากรต้องไปดูแลระมัดระวังในห้องต่างๆ ทั้งผ่าตัดไอซียู ดังนั้น การเตรียม ร.พ.สนามและรับ ผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่โดยนำคนไข้มาอยู่ ทำให้ ร.พ.ปกติสามารถบริการต่อไปได้

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า เราต้อง การร.พ.สนามเพื่อให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในการควบคุมไม่แพร่เชื้อสู่ชุมชนดังนั้น ระบบของ ร.พ.สนามต้องปลอดภัยต่อชุมชน โดยคณะ ทำงานสบส. ได้หารือผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและด้านการแพทย์กำหนดแนวทางจัดตั้ง ร.พ.สนามใน 4 เรื่อง คือ

1. การสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการ ร.พ.สนาม โดยการมีส่วนร่วม ด้วยการให้ข้อมูลสื่อสารกับคนในชุมชนผ่านกลไกประชาคม ท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หากประชาชนมีข้อสงสัยก็สอบถาม อสม. หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ได้ ยืนยันว่ามีการสื่อสารกัน ไม่ปกปิดข้อมูล และจะทำให้มีความปลอดภัย ไม่ให้เชื้อออกมาสู่ชุมชน

2. อาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อม จุดที่ตั้งโดยหลักมี สถานที่ 5 แห่ง คือ ที่โล่งว่างเปล่า มีความเหมาะสม ห่างไกลชุมชน, โรงยิมฯ หอประชุม สนามกีฬาที่ห่างไกลจากชุมชน ภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์ ระยะ 10-20 เมตรตามข้อกำหนดพื้นที่โล่งใน ร.พ. อาคารหอผู้ป่วยที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ และกรณีสถานกักกันของรัฐ ทางเลือกที่เปลี่ยนแปลงเป็น ร.พ.สนามลักษณะโรงแรม

สำหรับรูปแบบของ ร.พ.สนาม มีการออกแบบกลางเพื่อให้นำไปปรับใช้ แบ่งเป็น โซนสีเหลืองสำหรับคนไข้ โซนสีเขียวของเจ้าหน้าที่ และโซนสีส้มคือกระบวนการห้องน้ำและขยะติดเชื้อ ซึ่งส่วนสีส้มที่คนกังวลนั้น ออกแบบให้มีระบบท่อบำบัดที่จะไม่ไปยุ่งกับท่อน้ำเสียของสถานที่นั้นๆ ใส่คลอรีนและน้ำยาฆ่าเชื้อ และจะทดสอบน้ำละแวกใกล้เคียงว่ามีเชื้อโควิด-19 ภายในของชุมชนหรือไม่

ส่วนโซนสีเขียว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีชั้นในการเข้า 2-3 ชั้น เมื่อเข้าไปในโซนผู้ป่วยสีเหลือง กลับออกมาต้องอาบน้ำ ถอดชุดเพื่อไม่ให้เชื้อติดเข้ามาในส่วนปฏิบัติงานสีเขียว และคนไข้หายแล้วที่จะกลับบ้าน ก็ต้องออกจากโซนสีเหลืองมายังกล่องสีแดงเพื่ออาบน้ำ ไม่เอาเสื้อผ้าที่มีเชื้อเปื้อนกลับไปสู่ชุมชน

3. ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้ง ร.พ.สนามให้เฉพาะกรณีโรคโควิด-19 เท่านั้น ได้รับการยกเว้นจากพ.ร.บ.สถานพยาบาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจะเป็นผู้อนุญาตให้เกิดขึ้นโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่จะเป็น ผู้เลือกสถานที่ ถือว่าทำถูกกฎหมาย

และ 4. การรักษาพยาบาล กรมการแพทย์ทำแนวทางและปรับปรุงตลอดเวลา เพื่อให้คนป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยปลอดภัยที่สุด หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็มีรถเอกซเรย์เข้าไปดูหรือรับส่งต่อได้ ยืนยันว่า ร.พ.สนามมีความปลอดภัย หากเห็นแล้วไม่เข้าใจสามารถสอบถามได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน