เมย์เดย์ : กำเนิด

วันแรงงานเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน

กูปรี

ตอบ กูปรี

ข้อมูลคำตอบนำมาจากเว็บไซต์ prachatai.com ว่าด้วยต้นกำเนิดและแรกมีกิจกรรมเฉลิมฉลอง วันแรงงาน

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันแรงงานสากล” (International Workers’ Day) หรือเรียกกันทั่วไปว่า เมย์เดย์-May Day ซึ่งไม่เพียงเป็นวาระของการระลึกถึงการเสียสละและความเหนื่อยยากของชนชั้นกรรมาชีพ หากยังเป็นวาระรำลึกถึงเหตุการณ์ล้อมปราบการประท้วงของมวลชนกรรมกรที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกต (Haymarket Square) นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1886

1 พฤษภาคม 1886 กรรมกรในชิคาโกนัดหยุดงานและออกมาบนท้องถนนพร้อมๆ กับกรรมกรหลายแสนคนทั่วสหรัฐ เรียกร้องให้ออกกฎหมายจำกัดชั่วโมงการทำงานไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน

ทั้งนี้ ในบริบทของเศรษฐกิจการเมืองยุคศตวรรษที่ 19 ตามที่ คาร์ล มาร์กซ์ อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ ทุน เล่มที่ 1 (Capital Volume I) การเรียกร้องให้จำกัดชั่วโมงทำงานของกรรมกรในโรงงานถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับชนชั้นนายทุนและ ผู้มีอำนาจของรัฐ เนื่องจากธรรมเนียมที่เป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้นคือการจ่ายค่าแรงในราคาถูกที่สุด และบังคับให้กรรมกรทำงานนานกว่าค่าแรงที่ได้รับให้มากที่สุด โดยรวมไปถึงสตรีและเด็กที่จำต้องขายแรงงานและทำงานหามรุ่งหามค่ำเป็นเวลา 10, 12, 16 หรือ 24 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ได้ค่าแรงประทังชีพ

ด้วยบริบทดังกล่าว การนัดหยุดงานและเรียกร้องกฎหมายจำกัดชั่วโมงทำงานในวันที่ 1 พฤษภาคม 1886 จึงสร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นนายทุนและผู้มีอำนาจรัฐ ที่ชิคาโก เมืองอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง การนัดหยุดงานถูกจุดติดและลุกลามจากโรงงานไปยังท้องถนน นำสู่การล้อมปราบผู้ประท้วงที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกตในวันที่ 4 พฤษภาคม 1886

แต่ความสูญเสียและความพ่ายแพ้ในเหตุการณ์ที่ชิคาโกก็ไม่ได้สูญเปล่า ในปี 1890 ที่ประชุมของตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์และสหภาพแรงงานทั่วโลกที่รู้จักกันในนาม “สากลที่สอง” (The Second International) ลงมติให้มีการประกาศนัดหยุดงานของกรรมกรและการเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นแรงงานทั่วโลกในวันที่ 1 พฤษภาคม เรียกร้องให้หลักการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันได้รับการปฏิบัติกับกรรมกรทั่วโลก ทั้งยังเป็นการรำลึกวีรกรรมของพี่น้องกรรมกรในเหตุการณ์ล้อมปราบที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกต

และนั่นก็คือหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์กรรมาชีพ วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 ถือเป็นครั้งแรกของการจัดวันแรงงานสากล หรือพูดได้ว่า เมย์เดย์ของกรรมกรทั่วโลกได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนั้น

ค.ศ.1894 โรซา ลักแซมเบิร์ก นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ และนักปฏิวัติสังคมนิยม เขียนงานชื่อ “อะไรคือต้นกำเนิดของวันเมย์เดย์?” พาผู้อ่านไปพบกับต้นกำเนิดของเมย์เดย์ที่สืบสาวย้อนไปไกลกว่าวีรกรรมที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกต โดยระบุว่า แนวคิดอันน่ายินดีว่าด้วยการใช้การเฉลิมฉลองวันหยุดของกรรมาชีพเป็นยุทธวิธีบรรลุการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในออสเตรเลียที่กรรมกรพากันหยุดงานอย่างเด็ดขาดในวันที่ 21 เมษายน 1856 พร้อมการประชุมและงานมหรสพ

การเฉลิมฉลองครั้งนี้มีผลยิ่งต่อเหล่ามวลชนกรรมาชีพ โดยเฉพาะกรรมกรอเมริกัน กระทั่งเกิดการชุมนุมในวันที่ 1 พฤษภาคม 1886, โศกนาฏกรรม 4 พฤษภาคม และที่สุดคือกำเนิดวันแรงงานสากลในปี ค.ศ.1890

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน