โรคระบาด : ลามข้ามโลก

ในอดีตโรคระบาดลามข้ามโลกได้อย่างไร

เรณู

ตอบ เรณู

คำตอบนำมาจากหนังสือ “จากปีศาจสู่เชื้อโรค : ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย” (สนพ.มติชน) โดย ชาติชาจ มุกสง

ในสังคมยุคบุพกาลที่มนุษย์รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 50-100 คน เร่ร่อนไม่มีหลักแหล่ง ยังชีพด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ จำนวนประชากรที่หนาแน่นน้อย ทำให้ไม่เกิดแหล่งเพาะเชื้อโรค บรรพบุรุษรุ่นแรกๆ จึงปลอดโรคติดต่อ เช่น ฝีดาษ หัด ฯลฯ

ราว 8,000-10,000 ปีก่อน มนุษย์ได้ลงหลักปักฐานเพื่อทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ขึ้นเป็นครั้งแรกในตะวันออกใกล้ มนุษย์ก็ได้เริ่มต้นก่อแหล่งเพาะเชื้อโรคใหม่ๆ ขึ้น ยิ่งเมื่อมีการปฏิวัติทางการเกษตร มนุษย์สามารถผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอจนกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเพิ่มจำนวนประชากร

ผลจากการมีประชากรที่หนาแน่นขึ้น การตั้งถิ่นฐานถาวร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินรอบตัว ไม่ได้ทำให้มนุษย์สุขภาพดีขึ้น แต่กลับทำให้เกิดโรคที่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสู่มนุษย์จำนวนมากในสังคมเกษตรกรรม การปศุสัตว์ทำให้เกิดฝี, โรคหัด และโรคกลัวน้ำ โดยโรคที่แพร่จากสัตว์สู่คน หรือเป็นกลับไปกลับมา ระหว่างคนกับสัตว์ ทำให้โรคปรับตัว และเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปก็จะส่งผลร้ายต่อมนุษยชาติ

เมื่อนักเดินทางชาวยุโรปสามารถเดินทางไปถึงโลกใหม่หรือทวีปอเมริกา ครั้งแรกใน ค.ศ.1492 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกหลายๆ ด้าน นอกจากค้นพบดินแดนโลกใหม่, ผู้คน, สัตว์, พืช แล้ว ยังพบ “โรค” ที่ต่างออกไปจากโลกเก่าคือ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งสัตว์ พืช และโรคที่ค้นพบในโลกใหม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ทั้งโลกใหม่และโลกเก่าไปพร้อมกัน การค้นพบโลกใหม่จึงกลายเป็นการเชื้อเชิญเอาโรคที่ไม่มีใน 2 ทวีปมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งได้นําไปสู่หายนะครั้งใหญ่

การเสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งแรกในโลกใหม่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1493 ชาวอาราวัคในแคริบเบียนติดโรคไข้หวัดใหญ่ (บางแหล่งก็สันนิษฐานว่าเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่) จากหมูที่มากับเรือของโคลัมบัส ต่อมาใน ค.ศ.1518 โรคฝีดาษระบาดประชากรในแคริบเบียนเสียชีวิตไปถึง 1 ใน 3 หรืออาจจะถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว ตามด้วยโรคระบาดอื่นๆ จากยุโรป ที่ทยอยมาเป็นระลอก โรคระบาดอย่าง ฝีดาษ ทําให้อารยธรรมโบราณของชาวพื้นเมืองอย่างอินคา มายา และแอซเทคถึงกลับล่มสลาย

โรคของชาวพื้นเมืองอเมริกาก็ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความตายของชาวยุโรปไม่น้อยเช่นกัน โรคใหม่ที่เชื่อว่ามาจากทวีปอเมริกาพร้อมกับลูกเรือของโคลัมบัสคือ โรคซิฟิลิส มีรายงานว่าชาวพื้นเมืองในอเมริกาเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Great Pow (ชื่อเรียกซิฟิลิสเวลานั้น) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสนำโรคซิฟิลิสไปกับเรือสํารวจที่เดินทาง และเผยแพร่เชื้อโรคสู่เอเชียตั้งแต่อินเดียถึงญี่ปุ่น

ยังปรากฏว่ามีโรคจากการติดต่อค้าขาย การค้าทาส การทําสงคราม การล่าอาณานิคม การอพยพของผู้คน การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ทั้งพืชพันธุ์ใหม่ที่นําเข้าไปสู่ยุโรปโดยพ่อค้าและนักเดินทาง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง ที่กลายเป็นแหล่งอาหารหลักของชาวยุโรปและทําให้ประชากรมีเพิ่มมากขึ้น ก็ได้นําโรคชนิดใหม่มากับพืชพันธุ์เหล่านั้นด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน