ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ : วิศวกรแห่งคณะราษฎร

ได้ยินว่า สะพานเดชาติวงศ์ นครสวรรค์ เกี่ยวกับคณะราษฎรด้วย เกี่ยวยังไง

แตงกวา

ตอบ แตงกวา

คำตอบนำมาจากบทความ “ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ กับการปฏิวัติ 2475 : วิศวกรผู้เห็นชาติสำคัญสูงสุด” โดย ณัฐพล ใจจริง ว่า ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ เป็นพระราชวงศ์ผู้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าชนชั้น เขาร่วมการปฏิวัติ 2475 ต่อมาถูกคุมขังจากกบฏบวรเดชฐานเป็นสมาชิกคณะราษฎร เมื่อหนีได้จึงข้ามไป จำปาศักดิ์เพื่อเข้ากรุงเทพฯ ร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย ร่วม ก่อตั้งเสรีไทย พัฒนาการรถไฟ และพยายามฟื้นฟูทางรถไฟสายมรณะจนประสบอุบัติเหตุอสัญกรรมในหน้าที่

หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) (2445-2490) สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระราชโอรสพระองค์ที่ 15 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

การศึกษาชั้นต้นเรียนจาก พี่เขยซึ่งสอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครู ต่อมาเข้าเรียนโรงเรียนวัด อนงคาราม โรงเรียนมัธยมวัดพิชัยการาม และโรงเรียนเทพศิรินทร์ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และผลการเรียนดี ทำให้ได้ทุนของกรมรถไฟหลวงไปศึกษาวิศวกรรมโยธาที่อังกฤษ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม (2469) โดยเน้นเรียนทางวิศวกรรมรถไฟและการสร้างทางหลวง และกลับมารับราชการที่กรมรถไฟหลวง

ระหว่างปฏิบัติงานที่กรมรถไฟ เข้าร่วมการปฏิวัติ 2475 ภารกิจจัดการตัดระบบคมนาคม ทั้งการสื่อสารและการรถไฟ โดยกลุ่มปฏิบัติการของเขามี 4 คน ประกอบด้วย นายแช่ม มุสตาฟา (พรหมยงค์) นายบรรจง ศรีจรูญ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ และตัวเขา มีหน้าที่ตัดโทรเลขและขัดขวางเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-หัวหิน

ภายหลังการปฏิวัติสำเร็จ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ นายช่าง ณ โรงงานมักกะสัน แต่ไม่นานจากนั้น พระยาม โนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ 2475 และปิดสภา (2476) เขาเป็นสมาชิกคณะราษฎร ถูกย้ายไปคุมก่อสร้างยังถิ่นทุรกันดาร-ขอนแก่น

ต่อมาเกิด กบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) ถูกจำขังที่กองบัญชาการที่นครราชสีมา เมื่อหลบหนีออกมาได้ เขารายงานสภาพการณ์ให้รัฐบาลทราบโดยละเอียด และอำนวยมิให้ฝ่ายปฏิปักษ์ยึดภาคอีสานไว้ได้ โดยระดมกำลังตำรวจเข้ารักษาความสงบ และเร่งเดินมาที่กรุงเทพฯ ร่วมเป็นร่วมตายกับคณะราษฎร แต่ทางรถไฟถูกปิดกั้น จึงข้ามพรมแดนไปยังจำปาศักดิ์ ถูกตำรวจฝรั่งเศสจับขังจนเหตุการณ์สิ้นสุด

ระหว่างเป็นนายช่างกรมโยธาเทศบาล ริเริ่มโครงการ ฟื้นสวนลุมพินีให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน ทั้งไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น แมนจูกัว อินโดจีน เพื่อพัฒนาการรถไฟไทย นอกจากนี้ยังมีบันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ระบุว่า เขามีส่วนร่วมก่อตั้งขบวนการเสรีไทย

ม.ล.กรีเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ พฤฒิสภา เสรีไทย รัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง ตลอดจนเป็นกรรมการพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักของคณะราษฎร ในประวัติบันทึกว่า มีความคิดไปในทางสังคมนิยม

เมื่อสงครามสิ้นสุด เขาเห็นว่าทางรถไฟสายพม่าที่ญี่ปุ่น สร้างขึ้น สมควรรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมฟื้นฟูการค้าไทย ในฐานะรัฐมนตรีคมนาคมจึงเดินทางไปสำรวจเส้นทาง แต่ประสบอุบัติเหตุรถตรวจการรางรถไฟตกเหวที่ห้วยคอยท่า ถึงแก่อสัญกรรมในหน้าที่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2490 สิริอายุได้เพียง 45 ปี รัฐบาลจอมพล ป.ได้ตั้งชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ว่า “สะพานเดชาติวงศ์” (2493) เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึง ม.ล.กรี เดชาติวงศ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน