เข้าพรรษา

อยากทราบเมื่อแรกมีการเข้าพรรษา

อาร์ม

ตอบ อาร์ม

การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติที่พระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึงการอธิษฐานอยู่ ประจำที่ ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ ไม่ไปค้างแรมที่อื่น โดยต้องพักประจำอยู่ในวัดหรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้ ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ตรงกับภาษาปากว่า จำพรรษา คือ พรรษา แปลว่า ฤดูฝน, จำ แปลว่า พักอยู่

ดังกล่าวแล้วว่าเป็นพุทธบัญญัติ มีพระวินัยบัญญัติไว้ การเข้าพรรษาจึงเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง พระสงฆ์รูปใดไม่เข้าจำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงปรับอาบัติแก่พระสงฆ์รูปนั้นด้วยอาบัติทุกกฎ

วันเข้าพรรษาโดยทั่วไปกำหนดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า วันเข้าพรรษาแรก (ปุริมพรรษา) ถ้าปีใดเป็นปีอธิกมาส มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเข้าพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้าพรรษาได้ ก็เลื่อนเข้าพรรษาใน แรม 1 ค่ำ เดือน 9 ไปสิ้นสุดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เรียกว่า วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา)

ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องการเข้าพรรษาไว้ แต่การเข้าพรรษานั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกปฏิบัติกันมาโดยปกติเนื่องด้วยพุทธจริยาวัตรในอันที่จะไม่ออกไปจาริกตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะการคมนาคมมีความลำบาก และด้วยในช่วงต้นพุทธกาลนั้น พระสงฆ์มีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นพระอริยบุคคล จึงทราบดีว่าสิ่งใดที่พระสงฆ์ควรหรือไม่ควรกระทำ

ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มากขึ้น และด้วยพระพุทธจริยาที่จะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยล่วงหน้า พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงบัญญัติเรื่องให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษาไว้ จึงเกิดเหตุการณ์กลุ่มพระสงฆ์ฉัพพัคคีย์พากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ทำให้ชาวบ้านติเตียนว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน

ขณะที่นักบวชในศาสนาอื่นพากันหยุดเดินทาง กระทั่งฝูงนกก็ยังไม่ท่องเที่ยวไป ทั้งการที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ ในฤดูฝน ก็อาจเดินเหยียบย่ำข้าวกล้าที่ปลูกลงแปลงได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยถึงแก่ ความตาย

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง รับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน ตรัสถามจนได้ความเป็นจริงแล้ว จึงทรงบัญญัติว่า “อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง อุ ปะคันตุง” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา” นั่นคือทรงวางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน

ในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษา อาจมีกรณีจำเป็นให้ต้องออกจากสถานที่จำพรรษาไปค้างที่อื่น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดย มีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณีไป ตามที่ทรงระบุไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐากบิดามารดา แต่ทั้งนี้จะต้องกลับภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า สัตตาหกรณียะ หากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วัน ถือว่าขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฎ เพราะรับ คำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน