ป่าแก่งกระจาน มรดกโลก

แก่งกระจานเป็นมรดกโลกจริงๆ แล้วใช่ไหมฮับ

เปเป้

ตอบ เปเป้

หลังจากประเทศไทยพยายามนำเสนอมาแล้ว 3 ครั้ง (พ.ศ. 2558, 2559 และ 2562) ให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน อันประกอบไปด้วยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี แนวเชื่อมต่อป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ที่สุดในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ปี 2564 ซึ่งเป็นการจัดประชุมผ่านระบบทางไกลระหว่างวันที่ 16-31 กรกฎาคม 2564 โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ คณะกรรมการมีมติให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

การอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

ทั้งนี้ ประเทศภาคีสมาชิกที่สนับสนุนให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สเปน ออสเตรเลีย มาลี บราซิล จีน ไนจีเรีย เมียนมา และ กัวเตมาลา มีเพียง นอร์เวย์ ประเทศเดียวที่คัดค้านด้วยข้อห่วงใยในประเด็นการจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน

และต้องบันทึกไว้ด้วยว่า เมื่อ 23 กรกฎาคม 2564 เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เผยแพร่ข้อความจากคณะผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก ให้มีมติ “ยกเลิก” การขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เหตุมีชนพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องในเขตอุทยานดังกล่าว

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ในปี 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ปี 2548

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แถลงในประเด็นหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 ที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ว่า เพราะเป็นพื้นที่ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก ทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี จัดเป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร

พบชนิดพันธุ์สัตว์ 720 ชนิด ตามบัญชี IUCN Red List แบ่งเป็นสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered Species, CR)4 ชนิด ได้แก่ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ Siamese crocodile, ลิ่นชวา, เต่าเหลือง และเต่าหก สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species, EN) 8 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable Species, VU) 23 ชนิด และชนิดที่ถูกคุกคาม มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Near Threatened Species, NT) 25 ชนิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน