ราชประสงค์ : การเมืองในอดีต

ในอดีต ราชประสงค์ เคยมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นไหม

เตียว

ตอบ เตียว

หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นบริหารประเทศในเดือนเมษายน 2491 จากการรัฐประหาร เกิดการต่อต้านทั้งฝ่ายกองทัพและพลเรือน ในส่วนพลเรือนนำไปสู่ “กบฏวังหลวง” หรือ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” (ชื่อที่นายปรีดี พนมยงค์เรียก) โดยถือว่ารัฐบาลจอมพล ป. มีสถานะชั่วคราว และได้เตรียมการต่อต้านอย่างลับๆ

10 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดี พนมยงค์, ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์, ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ฯลฯ เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยนายปรีดีต้องการเจรจากับจอมพล ป. และคณะรัฐประหาร ยอมรับเงื่อนไขโดยสันติวิธี

16 กุมภาพันธ์ 2492 จอมพล ป. ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ชื่อว่า “ประเทศไทยจะมีจลาจลหรือไม่” ยกตัวอย่างเพื่อนบ้านเปรียบเทียบและเตือนฝ่ายตรงข้าม ต่อมา 23 กุมภาพันธ์ 2492 รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน

26 กุมภาพันธ์ 2492 ฝ่ายปฏิวัติเริ่มปฏิบัติการใน 3 แนวทาง คือ 1. เสรีไทยยึดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และพระบรมมหาราชวัง กำหนดเป็นกองบัญชาการกองทัพสูงสุด 2. กองสัญญาณทหารเรือยึดถนนสายสีลม ประตูน้ำ และปทุมวัน 3. นาวิกโยธินจากหัวหินเป็น กําลังหนุนและต่อต้าน ตั้งแต่ท่าข้ามแม่น้ำนครชัยศรี และกองทัพนาวิกโยธินจากสัตหีบเป็นกําลังหนุนและโจมตีทางน้ำเพื่อช่วยในการควบคุมพระนคร

เวลา 20.00 น. นายปรีดีและเสรีไทยขึ้นฝั่งที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ เวลา 21.05 น. กำลังส่วนหนึ่งนําโดย ไกร สติฐต และแหลม ปาณัฐเสถียร เข้ายึดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ พญาไท เริ่มประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ มี ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งแต่งตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มี พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน เป็นแม่ทัพใหญ่

จากนั้นออกคําสั่งปลดออกจากราชการ 5 คน คือ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการ, พ.ต.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการตํารวจสันติบาล, พล.ต.ท.หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) อธิบดีกรมตํารวจ และ พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ

21.00 น. ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช นําทหารเรือและเสรีไทยส่วนหนึ่งเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง ก่อนที่ ปรีดี พนมยงค์, ทวี ตะเวทิกุล พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และกําลังส่วนอื่นๆ เคลื่อนย้ายเข้ามาใช้เป็นศูนย์บัญชาการ

ด้านถนนวิทยุจนถึงสี่แยกราชประสงค์ กองสัญญาณทหารเรือลุมพินีเข้ายึดไว้ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. (26 กุมภาพันธ์) เริ่มปะทะกับทหารบกเมื่อเวลา 02.00 น. (27 กุมภาพันธ์) ในระยะแรกทหารเรือเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถยึดประตูน้ำ, มักกะสัน และสะพานราชเทวีได้ ส่วนทหารบกถอยไปยึดแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนามเป้า และพญาไท การสู้รบของ 2 กองทัพ เรียกกันต่อมาว่า “กรณีราชประสงค์”

ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่ฝ่ายปฏิวัติเข้ายึดก็มีที่ทําการโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบ, สถานีตํารวจปากน้ำ เพื่อมิให้มีการขัดขวางการเคลื่อนย้ายกําลังจากสัตหีบของฝ่ายทหารเรือ

ในช่วงแรกมีแนวโน้มว่าฝ่ายปฏิวัติจะได้รับชัยชนะ แต่เมื่อกําลังนาวิกโยธินจากสัตหีบ ซึ่งจะต้องเป็นกําลังหลักเข้ายึดและควบคุมตามสถานที่สําคัญมาไม่ทันตามนัด เพราะติดอยู่ที่ท่าแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำบางปะกง สถานการณ์จึงพลิกกลับ

ฝ่ายรัฐบาลตั้งตัวได้ ออกประกาศยืนยันว่ารัฐบาลเดิมยังคงบริหารประเทศอยู่ และหลังจากเจรจากันระยะหนึ่ง พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้อํานวยการในการปราบปรามก็สั่งให้ล้อมพระบรมมหาราชวังและโจมตีจนเป็นฝ่ายได้ชัยในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน