โควิด-19‘มิว-Mu’

ที่ว่าโควิด-19 มีสายพันธุ์ใหม่ชื่อมิว รายละเอียดว่ายังไง น่ากลัวไหม

แต๊ง

ตอบ แต๊ง

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” (Mu) หรือ B.1.621 เป็น “สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง” (Variants of Interest : VOI) นั่นหมายถึง เป็นสายพันธุ์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นอันตรายในอนาคตอันใกล้

WHO รายงานว่า โควิด-19 สายพันธุ์มิว มีการกลายพันธุ์ในระดับพันธุกรรม ซึ่งทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายตามธรรมชาติ หรือวัคซีนที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือการรักษาด้วยการใช้ monoclonal antibody ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 อาจใช้ไม่ได้ผล

เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์มิว หรือที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักในชื่อ B.1.621 ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศโคลัมเบีย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์มิว มีการ กลายพันธุ์ที่บ่งชี้ได้ถึงความเสี่ยงในการต้านทานต่อวัคซีนหลายชนิด และมีความเสี่ยงที่จะหลบหลีกภูมิต้านทานได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจไวรัสสายพันธุ์มิวนี้ให้ดียิ่งขึ้น

การยกระดับมิวขึ้นสู่ระดับวีโอไอครั้งนี้ หลังจากการถอดรหัสพันธุกรรมพบการกลายพันธุ์ที่ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม (เริ่มระบาดที่อู่ฮั่น) ค่อนข้างมากถึง 50-60 ตำแหน่ง เป็นปัจจัยให้ WHO พิจารณายกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตัวที่ 5 จากที่ก่อนหน้ามี 4 สายพันธุ์ คือ อีตา (Eta-B.1.525) ระบาดในหลายประเทศ, ไอโอตา (Iota-B.1.526) ระบาดในสหรัฐอเมริกา, แคปปา (Kappa-B.1.617.1) ระบาดในอินเดีย และ แลมบ์ดา (Lambda- C.37) ระบาดในเปรู

สายพันธุ์เหล่านี้ถูกจัดเป็นกลุ่มสีเหลืองที่ความรุนแรงยังต่ำกว่าสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern : VOC) เป็นกลุ่มสีแดงมี 4 ตัวที่ระบาดในขณะนี้ คือ อัลฟ่า (บี.1.1.7-อังกฤษ), เบต้า (บี.1.351-แอฟริกาใต้), แกมม่า (พี.1-บราซิล) และ เดลตา (บี.1.617.2-อินเดีย)

ในเวลานี้พบเชื้อกลายพันธุ์มิวระบาดอยู่ในหลายประเทศในภาคพื้นอเมริกาและยุโรป โดยในทวีปอเมริกานอกจากจะพบในโคลัมเบียแล้ว ยังพบในเม็กซิโก, กือราเซา, สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนใต้ของรัฐฟลอริดา ส่วนในยุโรปมีการระบาดใน เนเธอร์แลนด์, เดนมาร์ก และเยอรมนี และล่าสุด (1 ก.ย.) พบในประเทศญี่ปุ่น รวมกันแล้วขณะนี้พบการแพร่ระบาดในอย่างน้อย 43 ประเทศ

สำหรับประเทศไทย ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สายพันธุ์มิวระบาดอยู่ในประเทศที่ไกลจากบ้านเรา และประเทศในแถบเอเชียรวมถึงไทยก็ยังไม่พบรายงานการระบาด ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่รหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่าอาจจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน