รัฐประหาร19 ก.ย.49

รัฐประหาร 2549 เกิดอะไรขึ้นบ้าง

มะกอก

ตอบ มะกอก

คำตอบนำมาจากหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย สำนักพิมพ์มติชน

คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ยศ พ.ต.ท.) กล่าวคำปราศรัยที่สำนักงานสหประชาชาตินิวยอร์ก ทหารนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล โดยคณะผู้ก่อการอ้างว่า รัฐบาลทักษิณมีพฤติกรรมเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แทรกแซงองค์กรรัฐธรรมนูญ และสร้างความแตกแยกในสังคม

คณะผู้ก่อการใช้ริบบิ้นสีเหลืองประดับปลายปืน รถถัง และกลัดเครื่องแบบของทหาร เริ่มแรกเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต่อมาตัดเหลือ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” (คปค.)

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะผู้ก่อการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 สัญญาว่าจะร่างฉบับใหม่แทนที่และจะจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี

การรัฐประหารครั้งนี้เปิดโอกาสให้กองทัพขึ้นสู่อำนาจ นายพลหวนคืนเป็นข่าวในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจและตำแหน่งสำคัญอื่นๆ อย่างเป็นประวัติการณ์ ช่วง 2 ปีหลังการรัฐประหาร กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณประจำปีเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 โครงการซื้ออาวุธวงเงินสูงกลับมาอีก กองทัพเข้าอำนวยการควบคุมการรักษาความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลังจากที่ทักษิณโยกย้ายให้ตำรวจเข้าดำเนินการเมื่อปี 2545

เป้าหมายหลักของรัฐบาลรัฐประหารคือเพื่อปรับดุลอำนาจทางการเมืองใหม่ด้วยการกำจัดอำนาจของทักษิณ ลดบทบาทของนักการเมืองจากการเลือกตั้ง (ส.ส.) และนำอำนาจกลับคืนมาให้ฝ่ายข้าราชการและทหารแบบสมัยหลัง “6 ตุลา 19” โดยต่อมาศาลตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย ห้ามผู้บริหารพรรค 111 คน ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือรับตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ยึดทรัพย์สินจากทักษิณและครอบครัวชินวัตรเป็นมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท ทักษิณและสมาชิกครอบครัวบางคนถูกดำเนินคดีคอร์รัปชั่น

พรรคไทยรักไทยเกิดใหม่เป็น พรรคพลังประชาชน สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2550 สมัครจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 3 สัปดาห์ต่อมา ทักษิณเดินทางกลับเมืองไทย พร้อมภาพจำทรุดลงจูบแผ่นดินเมื่อลงจากเครื่องบิน

การรัฐประหารไม่ได้ลดบทบาทของทักษิณลงไป พลังต่างๆ ที่ต่อต้านเขาจึงเบนเข็มไปที่การประท้วงบนท้องถนน และศาลมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น เช่น กรณีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษก หรือการถอดถอนสมัครพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการที่เขาได้รับค่าจ้างในฐานะพิธีกรรายการโทรทัศน์ ชิมไปบ่นไป ขณะดำรงตำแหน่ง ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ

สนธิ ลิ้มทองกุล พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กลับคืนสู่ท้องถนน พฤษภาคม 2551 พวกเขาชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาล มีนักแสดงมากมายเข้าร่วม ผู้ชุมนุมสวมเสื้อเหลืองชูคำขวัญเชิดชูสถาบัน และเสนอ “การเมืองใหม่”

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่หลุดพ้นของสมัคร แทนที่ด้วย สมชายวงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณ ทำให้กลุ่มเสื้อเหลืองเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล เหตุการณ์ทวีความรุนแรง และผู้ชุมนุมล้อมปิดสนามบินสุวรรณภูมิ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล

ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคที่แตกลูกมาจากพรรคไทยรักไทย พธม. ออกจากสนามบิน ทหารและผู้นำด้านธุรกิจเอกชนช่วยกันสถาปนารัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

จากไทม์ไลน์ที่ต่อเนื่องยาวนาน จะเห็นได้ว่ารัฐประหาร 2549 และผลพวงหลังจากนั้นสร้างความเสียหายมหาศาลแก่ประเพณีประชาธิปไตยที่ได้ก่อสร้างสร้างขึ้นมาในช่วง 30 ปีที่แล้ว และยังคงส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยร่วมสมัยจนทุกวันนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน