ก่อน 6 ตุลา : การชุมนุมที่จุฬาฯ

ก่อนถึงเหตุการณ์ วันที่ 6 ตุลา เริ่มมีการชุมนุมประท้วงขึ้นเมื่อไหร่

ดาว

ตอบ ดาว

วันที่ 28 กันยายน 2519 นิสิตนักศึกษาและประชาชนรวมตัวกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประท้วงการกลับเข้าประเทศของ ถนอม กิตติขจร 1 ใน 3 ทรราชที่ถูกขับไล่ไปช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (วันประวัติศาสตร์ โค่นล้ม จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหารและมีการสืบทอดอำนาจทางการเมืองอย่างยาวนาน 3 นายทหาร ถูกประชาชนเรียกเป็น “ทรราช” และถูกขับไล่ออกไปจากประเทศไทย)

วันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอมกลับเข้าสู่ประเทศไทยโดยบวชเป็นสามเณรมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มีพระญาณสังวร (อดีตสมเด็จพระสังฆราช) เป็นองค์อุปัชฌาย์

ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นำตัวถนอมมาขึ้นศาลพิจารณาคดี คัดค้านการบวช และต่อต้านความพยายามก่อการรัฐประหาร, ให้จับตัวคนร้ายที่ก่อการฆาตกรรม 2 ช่าง ไฟฟ้านครปฐม (ถูกทำร้ายจนตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ ต่อต้านการกลับมาของถนอม) มาลงโทษ โดยให้เวลารัฐบาล 3 วัน และให้รัฐบาลจัดกำลังรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม

การชุมนุมใหญ่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 28 กันยายน มีผู้เข้าร่วมหลักหมื่นคน มีวีรชน 14 ตุลาและญาติเข้าร่วมการประท้วงด้วย ก่อนย้ายไปชุมนุมที่สนามหลวงในวันที่ 29 กันยายน และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นได้มีการรวมตัวชุมนุมบ้างแล้ว อาทิ การชุมนุมของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ และการจัดชุมนุมของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ที่สนามหลวง เป็นต้น

เว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา-doct6.com” ให้ข้อมูลเหตุการณ์ช่วงนี้ สรุปความว่า 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอมบวชเณรจากสิงคโปร์เดินทางถึงประเทศไทย โดยมีบุคคลในรัฐบาลไปรับที่สนามบิน เณรถนอมเดินทางต่อไปยังวัดบวรนิเวศฯ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศคำปราศรัยของจอมพลถนอม ระบุว่ามิได้มีความมุ่งหมายทางการเมือง เรียกร้องให้ระงับการต่อต้านไว้จนกว่าพระถนอมจะสึก เพื่อมิให้สะเทือนต่อพระศาสนา

ศนท. แถลงว่าที่ประชุมกลุ่มพลัง 165 กลุ่ม มีมติคัดค้านการ กลับมาของจอมพลถนอม ทั้งจะโฆษณาเปิดโปงความผิดของ พระถนอม ช่วงเวลาเดียวกันเกิดกระแสโจมตีการเคลื่อนไหว ของ ศนท. เผยแพร่โดยสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม เรียกร้องไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม ด้าน ศนท.ใช้วิธีเคาะประตูบ้านแทนการชุมนุม ปรากฏว่าสามารถสร้างความเข้าใจและความตื่นตัวได้อย่างดียิ่ง

24 กันยายน 2519 วิชัย เกษศรีพงษา และชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม สมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ ถูกซ้อมจนตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่จัดสรรที่ ต.พระประโทน อ.เมืองนครปฐม (6 ตุลาคม ตำรวจ 5 คนถูกจับในข้อหาสมคบฆ่าแขวนคอนายวิชัยและนายชุมพร ทั้งหมดถูกปล่อยตัว)

29 กันยายน 2519 ศนท. และกลุ่มพลังต่างๆ นัดชุมนุมประท้วงพระถนอมที่สนามหลวง มีประชาชนมาร่วมชุมนุมประมาณสองหมื่นคน

และที่สุดคือการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 โดยเวลา 18.30 น. ฝนตกหนัก แต่ท้องสนามหลวงยังมีคนชุมนุมอยู่นับหมื่น และ 19.30 น. เพื่อความปลอดภัย ย้ายการชุมนุมเข้าธรรมศาสตร์ พร้อมกับประกาศว่าจะไม่สลายตัวจนกว่า พระถนอมจะออกจากประเทศไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน