จิตร ภูมิศักดิ์ กับเผด็จการ (ตอนจบ)

ฉบับวานนี้ (5ต.ค.) “ณพล” เขียนมาว่า กรณีหนังสือสำหรับเด็ก ทำไห้สนใจงานของจิตร ภูมิศักดิ์ เขาทำอะไรที่รัฐบาลเผด็จการต้องกลัว

เมื่อวานตอบถึงตอนที่จิตรเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำตอบนำมาจากบทความ “ชีวิตในห้วงเผด็จการของ จิตร ภูมิศักดิ์ กับผลงาน และอิทธิพลทางความคิดสู่นักศึกษา” เรียบเรียงจาก “ชีวิตและงาน จิตร ภูมิศักดิ์” โดย ธนาพล อิ๋วสกุล และคณะ

จุดที่ทำให้ชีวิตของจิตรพลิกผันก็คือในช่วงปี 3 จากการไปเปลี่ยนแปลงหนังสือมหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม จากเดิมที่มีการยกย่อง ร.5 และมีเนื้อหาระบบโซตัส เมื่อแทนที่ด้วยการเขียนบทความที่มีเนื้อหาวิจารณ์ความเสื่อมในแวดวงพระสงฆ์ซึ่งหากินในร่มกาสาวพัสตร์ โดยใช้กรอบแนวคิดลัทธิมาร์กซ์ จิตรใช้นามปากกาว่า “นาครทาส”

แม้หนังสือที่จิตรปรับปรุงจะไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่เรื่องนี้ก็สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มนิสิตจนจิตรถูกลงโทษด้วยการโยนบก และสภามหาวิทยาลัยพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี ข้อหามีความคิดโน้มเอียงไปฝ่ายซ้าย นำไปสู่จุดเปลี่ยนในชีวิตของจิตร

ช่วงถูกพักการเรียนในปี 2496 และบาดเจ็บจากการโยนบก ทำให้เขามีโอกาสคิดโครงร่างวิทยานิพนธ์เรื่องคำเขมรโบราณในภาษาไทย

ขณะเดียวกัน จิตรได้รู้เบื้องลึกของอเมริกามากขึ้น ทำให้เขาเปลี่ยนตัวเองไปเป็นปัญญาชนปฏิวัติ ในช่วงที่เป็นครูที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ควบคู่กับการเรียนปริญญาโทที่วิทยาลัยประสานมิตร จิตรยังเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบลับๆ

เขาเล่าว่า ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ “สับสนซับซ้อน” เช่น โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครหัวก้าวหน้าในกทม. และจังหวัดอื่น ผลักดันและเตรียมการเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ประท้วงเรื่องไม่มีที่เรียน ร่วมในงานต่างๆ ของแนวร่วมสังคมนิยม

ในบรรดาผลงานมากมายของจิตร บทความประวัติศาสตร์ที่ลือลั่นย่อมเป็น “โฉมหน้าศักดินาไทย” ศึกษาสังคมไทยจากสมัยสุโขทัยจนถึงพุทธศตวรรษที่ 25 ประเด็นที่จิตรนำเสนอแสดงจุดยืนแตกต่างจากงานสายดำรงราชานุภาพแบบกลับหัวกลับหางจนอีกฝ่ายต้องออกมาเขียนโต้ตอบ อาทิ หนังสือ ฝรั่งศักดินา โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

เมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ 20 ต.ค. 2501 วันรุ่งขึ้น จิตรก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับตามคำสั่งจับนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย เขาและเพื่อนร่วมชะตากรรมถูกขังลืมกว่า 5 ปี ได้รับอิสรภาพในวันที่ 30 ตุลาคม 2507 แต่ไม่นานหลังจากนั้นจิตรเสียชีวิตใน วันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ที่สกลนคร ขณะอายุได้ 36 ปี

ช่วงเวลาหนึ่ง แนวคิดของเขาถูกทำให้ลืมโดยเผด็จการ ยุคที่สฤษดิ์กวาดจับนักคิดในช่วงทศวรรษ 2490 ประชาชนถูกทำให้ตัดตัวเองจากอดีต สังคมภายนอก ให้มีชีวิตกับตัวเองและปัจจุบัน ขณะที่ผู้นำคือคนรับผิดชอบเพียงผู้เดียว ยุคสมัยนี้เรียกว่ายุคพัฒนา ยุคนี้เองที่มหาวิทยาลัยที่เคยเต็มไปด้วยนักศึกษาที่ใฝ่รู้ทางการเมือง กลายเป็นยุคสมัยสายลมแสงแดด เต็มไปด้วยกิจกรรมฟุ่มเฟือย

นักศึกษากลุ่มหนึ่งไม่พอใจบรรยากาศนั้น อันเป็นการเริ่มของยุคแสวงหา มีการแสวงหาภูมิปัญญาซ้ายใหม่ที่มาจาก ตะวันตก และค้นพบซ้ายเก่าอันมีผลงานของจิตร รวมอยู่ด้วย ยุคสมัยนี้เป็นช่วงที่ผลงานของจิตรกลับมาเป็นที่สนใจ ผลงานของเขาปรากฏในหนังสือนักศึกษามากมาย ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อนักศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน