ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์

น้าชาติ มีความเป็นมาของ “ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์” ไหมคะ

จารุณี

ตอบ จารุณี

คำตอบนำมาจากบทความ “ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” โดยอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นรนิติ เศรษฐบุตร เผยแพร่ในฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ลานโพธิ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้อยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ ถ้าเดินเข้ามาจากทางประตูท่าพระจันทร์ก็จะใกล้นิดเดียว โผล่จากประตูเข้ามาก็จะเห็นต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ทางซ้ายมือที่หน้าตึกคณะศิลปศาสตร์ ทางขวามือนั้นจะเป็นตึกอเนกประสงค์ที่มีศูนย์หนังสืออยู่ที่ชั้นล่างสุด ตึกนี้ขนานกับถนนหน้าตึกโดมที่เป็น เส้นทางเดินรถทางเดียวให้ออกประตูท่าพระจันทร์

ลานโพธิ์แห่งนี้เป็นลานขนาดกลาง ได้ชื่อว่า “เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของธรรมศาสตร์และสังคมไทย” ทั้งนี้นับแต่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยการชุมนุมของนักศึกษาที่เริ่มต้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2516 ที่ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้รัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ปล่อยตัว ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คนที่ตำรวจจับกุมตัวไป ซึ่งมีอาจารย์ 1 คน และนักศึกษา 2 คน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย

การชุมนุมประท้วงและเรียกร้องของนักศึกษาได้รับการสนับสนุนจากผู้คนทั้งหลายที่ไม่พอใจรัฐบาลทหารจึงได้เข้ามาร่วมมากขึ้นจนลานโพธิ์ที่มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนักรับไม่ไหว ต้องย้ายไปชุมนุมกันที่สนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อยู่ด้านหลังตึกโดม

ต้นโพธิ์ที่ลานโพธิ์แห่งนี้มีขนาดใหญ่มาก น่าจะมีอายุแก่กว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2477 และได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บริเวณมหาวิทยาลัยที่ท่าพระจันทร์แห่งนี้ตั้งแต่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2479 นักศึกษาเก่าหลายคนบอกว่าได้เห็นต้นโพธิ์ที่เป็นต้นไม้ใหญ่มาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ พ.ศ.2500 แล้ว จึงน่าจะเป็นต้นไม้ที่ติดอยู่กับที่ดินตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซื้อมาจากกระทรวงกลาโหม ปัจจุบันนี้ที่โคนต้นโพธิ์ได้ทำเป็นที่นั่งหินขัดล้อมรอบ มีแผ่นประติมากรรมเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” ติดอยู่ และที่พื้นก็มีหมุดเหตุการณ์

ยังมีข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ tu.ac.th ระบุว่า ลานโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของธรรมศาสตร์และสังคมไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

ลานโพธิ์ยังเป็นสถานที่แสดงละครล้อการเมืองของนักศึกษาในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ภาพการเล่นละครนั้นกลายเป็นภาพข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ขณะที่สถานีวิทยุยานเกราะและวิทยุในเครือประโคมข่าวว่านักศึกษาแสดงละครหมิ่นฯ เกิดการชุมนุมของลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มพลังต่างๆ จนมีการล้อมปราบสังหารนักศึกษาประชาชนในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ปี 2534 ลานโพธิ์กลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะเป็นฐานที่มั่นในการเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อคณะผู้นำกองทัพทำการรัฐประหารแล้วร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ นักศึกษาและประชาชนได้ใช้ลานโพธิ์เป็นสถานที่ชุมนุมคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนั้น รวมถึงใช้เป็นสถานที่ชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของผู้นำกองทัพ นำไปสู่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

หากตำนานและเรื่องบอกเล่าทางการเมืองสมัยใหม่ของไทย มิอาจตัดขาดจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยทั้งหมด ก็ไม่สามารถละเลยที่จะกล่าวถึงการชุมนุมที่เป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ณ บริเวณนี้ได้เลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน