พระเกี้ยว

ขอรายละเอียดเกี่ยวกับพระเกี้ยวครับ

จีริพงษ์

ตอบ จีริพงษ์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรียกว่า พระราชลัญจกรพระเกี้ยว พระเกี้ยวยอด หรือจุลมงกุฎ เป็น ศิราภรณ์ (เครื่องประดับพระเกศาหรือพระเศียร) ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ

พระราชลัญจกรดังกล่าว เป็นตรางา ลักษณะกลมรี ขนาดกว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 6.8 เซนติเมตร รูปพระเกี้ยวมีรัศมี ประดิษฐานบนพานรอง 2 ชั้น ปากพานชั้นล่างมีรูปดอกกุหลาบ เคียงด้วยฉัตรตั้ง 2 ข้าง ที่ริมขอบทั้ง 2 ข้าง มีพานรอง 2 ชั้น วางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง

โดยเหตุที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเกี้ยวขึ้นองค์หนึ่ง เพื่อให้รัชกาลที่ 5 (ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ) ใช้ทรงในพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อ พ.ศ. 2408 จึงได้เรียกกันว่า “จุลมงกุฎ” มาแต่ครั้งนั้น และรัชกาลที่ 5 ก็ทรงถือเอาพระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎนี้มาเป็นสัญลักษณ์หรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์

พระราชลัญจกรนี้ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสาร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า รัชกาลที่ 5 ทรงประทับพระราชลัญจกรพระเกี้ยวครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2410 ครั้งที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ส่งมองซิเอแบลกัวต์เป็นราชทูตพิเศษเข้ามาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญากับสยาม โดยวันหนึ่ง รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทอดพระเนตรเรือรบฝรั่งเศสตามคำกราบบังคมทูลเชิญของราชทูต

จากนั้น “ราชทูตฝรั่งเศสจัดการรับเสด็จอย่างเต็มยศใหญ่ ชักธงบริวารและให้ทหารขึ้นยืนประจำเสาเรือรบ แล้วยิงปืนสลุตตามพระเกียรติยศรัชทายาททุกประการ อาศัยเหตุที่ราชทูตฝรั่งเศสแสดงความเคารพโดยพิเศษนี้ พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (หมายถึงรัชกาลที่ 5) ลงพระนามและประทับพระลัญจกรในหนังสือสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนสัญญา กับกรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปราบปรปักษ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัย”

ดังนั้น รัชกาลที่ 5 ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ จึงน่าจะทรงใช้ “ตราพระเกี้ยว” ประจำพระองค์ ทรง “ลงพระนามและประทับพระลัญจกร” ในหนังสือสำคัญ ดังกล่าว ทั้งนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า “ดูเหมือนตราพระลัญจกรรูปพระจุลมงกุฎ (เกี้ยวยอด) จะคิดขึ้นในคราวนี้ แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ”

พระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎ เป็นศิราภรณ์พิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระปรมาภิไธยคือ “จุฬาลงกรณ์” แปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือจุลมงกุฎ มีความหมายเชื่อมโยงกับพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ คือ “มงกุฎ” อีกทั้งพระปรมาภิไธย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีหมายความว่า “พระจอมเกล้าน้อย” เมื่อพระนามาภิไธยเดิมและพระปรมาภิไธยเดิมมีความหมายว่าพระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎ จึงได้ใช้พระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎวางบนเบาะ เป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาล

การใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายประจำสถาบันการศึกษามีมาตั้งแต่สมัย “โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียน ซึ่งต่อมาเมื่อวิวัฒน์เป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังคงให้ใช้ตราพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีสถานศึกษาอีกหลายแห่งใช้พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน