อีสาน

คําเรียก(ภาค)อีสานเป็นมายังไง รู้ไหมว่าคนอีสานรักบ้านขนาดไหน

เด็กอุบล

ตอบ เด็กอุบล

คำตอบสรุปจากบทความ “พ.ศ.2442 ยกเลิกคำว่า “ลาว” เกิดคำว่า “อีสาน” และภาคอีสานนิยม” โดย ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com

พ.ศ.2434 ราชสำนักกรุงเทพฯ ได้รวมหัวเมืองต่างๆ มาเป็นมณฑล กระทั่ง พ.ศ.2437 จึงได้ตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 3 มณฑล คือ 1.มณฑลลาวกลาง พระยาประสิทธิศิลปการ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มีที่บัญชาการมณฑลอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย 3 เมือง คือ นครราชสีมาชัยภูมิ และบุรีรัมย์

2.มณฑลลาวกาว พระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑล มีที่บัญชาการมณฑลอยู่ที่อุบลราชธานี ประกอบด้วย 7 เมือง คือ อุบลราชธานี จำปาสัก ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

3.มณฑลลาวพวน พระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคม เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ ก่อน พ.ศ. 2436 มีหัวเมืองทางฝั่งซ้ายรวมอยู่ด้วย มีแคว้นพวนเป็นแคว้นใหญ่ มีเชียงขวางเป็นเมืองสําคัญทรงตั้งชื่อมณฑลลาวพวนตามชื่อเมืองพวน เมืองในมณฑลนี้จึงเหลือเพียง 6 เมือง คือ อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร เลย หนองคาย ตั้งที่บัญชาการอยู่ที่อุดรธานี (เดิมอยู่ที่หนองคาย)

นโยบายรวมศูนย์อํานาจดังกล่าวนี้อํานาจการปกครองตนเองของบรรดาเจ้าเมืองท้องถิ่นเดิม ถูกแทนที่โดยพวกเจ้าและข้าราชการจากส่วนกลาง กระทั่ง พ.ศ.2442 โปรดฯ ให้แก้ไขชื่อมณฑลในอีสานใหม่ ให้เรียกชื่อตามทิศและตามพื้นที่ คือ มณฑลลาวกลาง เรียกว่า มณฑลนครราชสีมา, มณฑลลาวพวน เรียกว่ามณฑลฝ่ายเหนือต่อมา พ.ศ.2443 เรียกว่า มณฑลอุดรธานี ส่วนมณฑลลาวกาว ใน พ.ศ.2442 เรียกว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และ พ.ศ.2443 เรียกว่า มณฑลอิสาน

“อิสาน” หรือ “อีสาน” เป็นคําใหม่ที่ราชสํานักกรุงเทพฯ สร้างขึ้นและนํามาใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2442 คําว่า “อีสาน”-“ตะวันออกเฉียงเหนือ” ถูกนํามาใช้แทนคําว่า “ลาว” จะเห็นได้ว่าราชสํานักกรุงเทพฯ ได้มีความพยายามสร้างสํานึกแบบใหม่ในอีสาน และความพยายามนี้มีผลต่อการลดทอนความเป็นลาวลง

พ.ศ.2455 ได้ตั้งมณฑลอีกหนึ่งมณฑลคือ มณฑลร้อยเอ็ด โดยแบ่งท้องที่มาจากมณฑลอีสาน ส่วนมณฑลอีสานได้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุบลราชธานี

สมัยรัชกาลที่ 6 ให้รวมอาณาเขตของมณฑลเทศาภิบาลหลายมณฑลเข้าด้วยกันเป็นเขตการปกครองที่เรียกว่า “ภาค” และให้รวมมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบลราชธานี ขึ้นเป็น “ภาคอิสาน” ในปี พ.ศ.2465 โดยมีอุปราชภาคประจํา

ในสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ.2468 ทรงให้ยกเลิกตําแหน่งอุปราชภาคการปกครองแบบภาคจึงถูกยุบโดยปริยาย และต่อมาทุกมณฑลก็ ถูกยุบ อันเป็นผลจาก “พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2476” ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงสิ้นสุดลง และได้จัดแบ่งการปกครองเป็นจังหวัดต่างๆแล้วรวมจังหวัดในแต่ละภูมิภาคเข้าเป็นภาค มีผู้ว่าราชการภาคเป็น ผู้บริหารสูงสุด ขึ้นกับมหาดไทย

ดังนั้น หลัง พ.ศ.2476 เป็นต้นมาบริเวณที่เคยเป็นมณฑลต่างๆ ในอีสานได้ถูกรวมกันเรียกว่า “ภาคอีสาน” อีกครั้ง

นโยบายการรวมอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางของรัชกาลที่ 5 ไม่เพียงก่อให้เกิดการสถาปนาความมั่นคงของพระราชอํานาจ ซึ่งส่งผลต่อนโยบายสร้างชาติ แต่ยังส่งผลต่อการเกิดสํานึกในท้องถิ่น (ในความหมายเชิงพื้นที่) ด้วย ทั้งนี้ พบว่าสํานึกท้องถิ่นนิยมที่มีความเกี่ยวพันกับมณฑลที่ตนอยู่อาศัยเริ่มต้นขึ้นเมื่อรัฐไทยส่วนกลางเข้ามาจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน