พรรคทหาร (ตอนแรก)

น้าชาติ ผมอยากทราบถึงพรรค การเมืองที่มีทหารเป็นเจ้าของตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ณรัชต์

ตอบ ณรัชต์

คำตอบสรุปจากบทความของนักวิชาการรัฐศาสตร์ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เรื่อง “พรรคทหารไม่สดใส” ดังนี้

“พรรคทหาร” หรือที่ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “พรรคของระบอบเดิม” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองไทย ซึ่งเราอาจจะถือว่าจุดเริ่มต้นที่สำคัญของพรรคทหารเกิดขึ้นในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คือ “พรรคเสรีมนังคศิลา” พรรคเกิดขึ้นเพื่อรองรับต่อความพยายามของรัฐบาลพิบูลสงครามที่จะสร้างภาพให้ เห็นถึงกระบวนการประชาธิปไตยภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารไทย ขณะเดียวกันก็ต้องการให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ที่ จอมพล ป. จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

ด้วยผลของความแตกแยกของผู้นำทหารระหว่างจอมพล ป. กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้ผู้นำทหารอีกฝ่ายจัดตั้ง “พรรคสหภูมิ” ขึ้นเป็นคู่แข่ง โดยมีน้องชายต่างมารดาของจอมพลสฤษดิ์เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนพรรคทหารของรัฐบาลคือ “พรรคเสรีมนังคศิลา” มี จอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค

ซึ่งพรรคนี้มีบทบาทอย่างสำคัญในกรณี “การเลือกตั้งสกปรก” ในปี 2500 แม้พรรคจะชนะการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 แต่ก็เป็นการชนะที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากมาย จนกลายเป็นวิกฤตใหญ่ของรัฐบาล อันนำไปสู่ความขัดแย้งขั้นแตกหักกับผู้นำทหารอีกฝ่ายหนึ่ง จนทำให้จอมพลสฤษดิ์ก่อการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2500

หลังจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ พรรคเสรี มนังคศิลาซึ่งเป็น “พรรคทหารยุคที่ 1” จึงค่อยๆ อ่อนแรง และสิ้นสภาพไปกับการยุติของ “ระบอบพิบูลสงคราม” พร้อมกับการลี้ภัยของท่านผู้นำ

จอมพลสฤษดิ์พาการเมืองไทยกลับสู่การเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2500 โดยใช้สูตรเดิมด้วยการจัดตั้งพรรคทหารใหม่ “พรรคชาติสังคม” อันเป็น “พรรคทหารยุคที่ 2” และไม่มีความจำเป็นต้องปกปิดสถานะ เพราะพรรคนี้มีจอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้า พลโทถนอม กิตติขจร เป็นรองหัวหน้า พลโทประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคชาติสังคมชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล มีพลโทถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็น “นอมินี” ที่ชัดเจนของ จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งในเงื่อนไขเช่นนี้จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรค ของจอมพลสฤษดิ์จะไม่ชนะเลือกตั้ง

แต่หลังจากการรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์ในเดือนตุลาคม 2501 ผู้นำทหารไม่มีความจำเป็นต้องใช้พรรคทหารในแบบเดิม เพราะจอมพลสฤษดิ์จัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มรูปและไม่ได้พึ่งพาระบบการเลือกตั้งเช่นในช่วงหลังรัฐประหาร 2500 พรรคชาติสังคมจึงหมดบทบาทไปโดยปริยาย จนจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในต้นเดือนธันวาคม 2506

พลเอกถนอมก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พร้อมกับเลื่อนชั้นยศเป็น “จอมพล” และในที่สุดผู้นำทหารได้ตัดสินใจ เปิดให้การเมืองไทยกลับสู่การเลือกตั้งในปี 2512 สูตรเดิมของผู้นำทหารถูกนำกลับมาใช้ด้วยการจัดตั้ง “พรรคสหประชาไทย” ในฐานะ “พรรคทหารยุคที่ 3” และไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำทหารจะต้องปิดบังถึงสถานะของพรรค

ดังจะเห็นได้ว่า พรรคนี้มีจอมพลถนอมเป็นหัวหน้า และ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาฯ พรรค เมื่อมีประกาศ ผลการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคสหประชาไทยชนะการเลือกตั้ง แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็จำเป็นต้องอาศัยเสียงจาก ส.ส. อิสระ ซึ่งมีจำนวนมาก

ฉบับพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) พบกับการมาของ “พรรคทหารยุคที่ 4” และ “พรรคมาร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน