พรรคทหาร (ตอนจบ)

ฉบับวานนี้ (29พ.ย.) ‘ณรัชต์’ อยากทราบถึงพรรค การเมืองที่มีทหารเป็นเจ้าของพรรคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เมื่อวานตอบถึง ‘พรรคทหารยุคที่ 3’ โดยคำตอบสรุปจากบทความของ นักวิชาการรัฐศาสตร์ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เรื่อง ‘พรรคทหารไม่สดใส’ วันนี้พบกับการมาของ ‘พรรคทหารยุคที่ 4’ และ ‘พรรคมาร’

เป็นที่รับรู้กันดีว่า พรรคสหประชาไทย (พรรคทหาร ยุคที่ 3) เป็นที่รวมของหลาย ‘มุ้ง’ ที่มี ส.ส. อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารแต่ละคน และพรรคมีปัญหาภายในอย่างมาก อีกทั้งการควบคุมการเมืองในสภาก็ประสบปัญหาด้วย อันทำให้รัฐบาลกึ่งทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ประสบปัญหาเสถียรภาพอย่างมากจนจอมพลถนอมตัดสินใจในสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน คือการยึดอำนาจรัฐบาลตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514

การหวนกลับสู่การจัดตั้งรัฐบาลทหารคือหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การประท้วงใหญ่ของนิสิตนักศึกษาประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 อันไปสู่การสิ้นสุดของรัฐบาลทหาร และตามมาด้วยการลี้ภัยของผู้นำทหาร ผลสืบเนื่องอย่างชัดเจนคือการ สิ้นสุดของพรรคสหประชาไทย-พรรคทหารจบลงอีกครั้ง

หลังรัฐประหารตุลาคม 2520 ตามด้วยการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522 ผู้นำทหารเช่น พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ได้ใช้สูตรเก่าของการตั้งพรรคทหาร แต่พยายามเล่นการเมืองด้วยการเป็นผู้ควบคุมสภาและใช้พรรคการเมืองที่มีอยู่แต่เดิม

หลังรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2534 และมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 สูตรเก่าถูกนำมาใช้ด้วยการจัดตั้ง ‘พรรคสามัคคีธรรม’ มีนักการเมืองที่สนิทกับผู้นำรัฐประหารเข้ามารับบทบาทเป็นผู้ก่อตั้งพรรค แต่เมื่อเกิดการประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลจากนิสิตนักศึกษาประชาชนจนกลายเป็นการนองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 อันนำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐบาลของพลเอกสุจินดา คราประยูร พรรคสามัคคีธรรมก็จบชีวิตด้วย เป็นการจบของ ‘พรรคทหารยุคที่ 4’ ซึ่งในขณะนั้นพรรคทหารถูกเปรียบว่าเป็น ‘พรรคมาร’

หลังรัฐประหารพฤษภาคม 2557 และตามมาด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมการสืบทอดอำนาจด้วยการ เลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ไม่ผิดคาดที่สูตรของการจัดตั้งพรรคทหารหวนกลับมาอีกครั้ง ได้แก่ การจัดตั้ง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ อันเป็นการมาของ ‘พรรคทหารยุคที่ 5’ ซึ่งก็เผชิญกับความท้าทายอย่างมากไม่ต่างจากอดีต เช่น การควบคุม ส.ส. การควบคุมการเมืองในสภา ตลอดรวมถึงการแข่งขันเชิงอำนาจของผู้นำทหารที่มีฐานะเป็น ‘กลุ่มก๊วน’ ต่างๆ ที่นำไปสู่สภาวะ ‘แก้วร้าว’ ทางการเมืองทั้งในรัฐบาลและในพรรครัฐบาล

จากพรรคทหารยุคที่ 1 จนถึงยุคที่ 5 จะเห็นได้ว่า พรรคทหารเป็น ‘องค์กรเฉพาะกิจ’ ที่ผูกโยงอยู่กับตัวของผู้นำทหาร ยึดโยงกับตัวบุคคล และเกิดขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจหลังรัฐประหาร จึงมักไม่ได้มีอายุยืนนานเพื่อการแข่งขันทางการเมืองในระยะยาว

การสิ้นสุดของพรรคทหารจึงผูกติดอยู่กับการสิ้นอำนาจของผู้นำทหารโดยตรง เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้นำทหารที่ตั้งพรรคหมดอำนาจทางการเมืองลง พรรคทหารก็สลายตัวตามไปด้วย หรือถ้าผู้นำทหารอีกคนออกมาตั้งพรรคใหม่ ก็อาจเสมือนกับการเมืองไทยย้อนกลับสู่การแข่งขันในยุคก่อนปี 2500 ระหว่างพรรคเสรีมนังคศิลาที่มีจอมพล ป. เป็นหัวหน้า กับพรรค สหภูมิที่มีจอมพลสฤษดิ์อยู่เบื้องหลัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน