โอไมครอน (Omicron)

น้าชาติ ขอความรู้เรื่องโอไมครอน วัคซีนที่ใช้อยู่ ป้องกันได้ไหม

คุณแม่

ตอบ คุณแม่

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้ใช้ชื่อ Omicron เรียกไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ภาษาอังกฤษอ่านออกเสียงได้ทั้ง ออมิครอน และ โอไมครอน ส่วนต้นฉบับภาษากรีก อ่านว่า โอมีกรอน

เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่มีชื่อรหัสทางพันธุกรรมว่า บี.1.1.529 (B.1.1.529) หลังจากพบเชื้อตัวนี้เป็นครั้งแรกที่จังหวัดเคาเต็ง ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564

โอไมครอนนับเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลก จัดให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่ “น่ากังวล-Variants of Concern หรือ VOC” ต่อจาก อัลฟา, เบตา, แกมมา และ เดลตา ขณะที่สายพันธุ์แลมบ์ดา กับ มิว ที่สร้างความกังวลก่อนหน้านี้ ยังเป็นสายพันธุ์ที่ “อยู่ในความสนใจ-Virant of Interest หรือ VOI” ซึ่งมีความร้ายแรงต่ำกว่า

รายงานของ BBCไทย เผยแพร่ในเว็บไซต์ “ข่าวสดออนไลน์” ระบุว่า เป็นเรื่องปกติที่เชื้อไวรัสทุกชนิดสามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ เชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ก็เช่นกัน แต่การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของมันแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ที่ส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อคุณสมบัติของ เชื้อไวรัส และมักค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา

การเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ครั้งนี้ทำให้มันอยู่รอดและ เพิ่มจำนวนขึ้น และที่โควิดชนิดใหม่นี้น่ากังวลเป็นพิเศษ ก็เพราะมีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง

การกลายพันธุ์แบบเหนือความคาดหมายนี้ จัดเป็นการ กลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ “ส่วนตัวรับ” (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่ง ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงอย่างสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าวัคซีนที่มีอยู่อาจจัดการกับไวรัสกลายพันธุ์ได้ไม่ดีเท่าเดิม แต่ก็ช่วยให้คนไม่ล้มป่วยหนักจากโควิด สายพันธุ์หลักอย่าง เดลตา อัลฟา เบตา และ แกมมา

แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้ครบโดสเพื่อทำให้สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้น และต่อจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จะทดลองดูว่าวัคซีนจะใช้ได้ผลกับโควิด กลายพันธุ์นี้แค่ไหน

สำหรับประเทศไทย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า รายงานจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ถึงลักษณะตัวเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน เปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ อาการเบื้องต้นพบ ว่ายังไม่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนๆ บางรายงานระบุว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไม่สูญเสียการรับกลิ่น/รส ซึ่งอาการป่วยไม่รุนแรง แต่มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยเหมือนกัน

ความเร็วในการแพร่โรค คาดว่าจะเร็วขึ้น/เพิ่มขึ้น เนื่องจากแทนที่สายพันธุ์เดลตา ในประเทศแอฟริกาใต้ได้อย่างรวดเร็ว โอกาสที่จะติดเชื้อทวีคูณ (Reproductive Number) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า wild type แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน, ความรุนแรงยังไม่มีข้อมูล แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าวัคซีนยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้, ระยะฟักตัวยังไม่มีข้อมูล อาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้อย่าง มีนัยสำคัญพบว่ามีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้สูงขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน