เพิร์ลฮาร์เบอร์ : ญี่ปุ่นvsสหรัฐอเมริกา

ทําไมญี่ปุ่นต้องถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ด้วย อเมริกาไม่ได้ร่วมสงครามซะหน่อย ช่างหาทำ

นายหนูนุ้ย

ตอบ นายหนูนุ้ย

ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ.2484) กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งกำลังขนาดมหึมาเข้าลอบโจมตีกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ ณ เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) บนเกาะโออาฮูของหมู่เกาะฮาวาย โดยที่สหรัฐ ไม่ทันได้ตั้งตัว เปิดฉากการเข้าสู่สงคราม โลกครั้งที่ 2 ของสหรัฐ และสงคราม ของทั้งสองประเทศอย่าง เต็มตัว หลังมีสัมพันธ์ที่ร้าวฉานมานานนับสิบปี

ก่อนหน้านั้น การขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นที่รุกรานดินแดนเพื่อนบ้านอย่างจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1937 ประกอบกับการเข้าเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอักษะ และการบุกยึดอินโดจีน ได้สร้างความ ไม่พอใจให้กับสหรัฐ อย่างรุนแรง

ที่สุด สหรัฐตอบโต้ ด้วยการอายัดทรัพย์ทั้งหมดของญี่ปุ่นในสหรัฐ ตามมาด้วยการประกาศคว่ำบาตรการค้าปิโตรเลียม และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ กับญี่ปุ่น เป็นการปิดล้อมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเวลานั้นน้ำมันเชื้อเพลิงมากถึง 81% ที่เคลื่อนย้ายไปมาในย่านเอเชียแปซิฟิก อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐ

ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ เพราะหมดหนทางอื่นแล้วในอันที่จะทลายการปิดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าว หลังจากพยายามหาทางเจรจาเพื่อให้สหรัฐผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรมาโดยตลอด รวมถึงช่วงเวลา ไม่กี่วันก่อนการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ก่อนที่ โตโจ ฮิเดกิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นจะตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยสงคราม

การเคลื่อนกำลังพลทางน้ำของญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน ประกอบด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำ เรือประจัญบาน 2 ลำ เรือลาดตระเวน 3 ลำ เรือพิฆาต 11 ลำ โดยมีกำลังรบทางอากาศเป็นเครื่องบินอีกกว่า 360 ลำ ร่วมปฏิบัติการ

การโจมตีเริ่มขึ้น ณ เวลา 07.55 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่นของวันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม ฝูงบินระลอกแรกจำนวน 200 ลำ พุ่งเข้าหาฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐแห่งนี้ ก่อนที่ระลอก 2 จะตามมาจากทุกทิศทาง กองทัพสหรัฐตกเป็น เป้านิ่งที่แทบไม่อาจตอบโต้ได้เลย

กองทัพญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากการฉวยโอกาสโจมตีในครั้งนี้เครื่องบินรบของสหรัฐ จำนวน 347 ลำ ถูกทำลายหรือไม่ก็เสียหายจนใช้การไม่ได้ เรือรบหลายชนิดหลายขนาดรวม 21 ลำ ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ถ้าไม่จมลงสู่ก้นอ่าวก็หลงเหลือเพียงแค่ซาก

การโจมตีดังกล่าวยังส่งผลให้กำลังพลมากกว่า 2,400 นายเสียชีวิต นอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่พลเรือนและประชาชนอเมริกันอีกนับร้อย ขณะที่ญี่ปุ่นเสียเครื่องบินไปเพียง 29 ลำ เรือดำน้ำขนาดเล็ก 5 ลำ และกำลังพลราว 100 นาย

การขาดคำเตือนอย่างเป็นทางการใดๆ โดยเฉพาะระหว่างการเจรจาเรื่องมาตรการคว่ำบาตรยังดำเนินอยู่ ทำให้ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสสเวลต์ ประกาศว่าวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เป็น “วันแห่งความอดสู” เพราะการโจมตีเกิดขึ้นโดยไม่มีการประกาศสงครามและไม่มีคำเตือนชัดเจน ต่อมาการลอบโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ได้ถูกตัดสินให้เป็นอาชญากรรมสงคราม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน