นักษัตรไทย ได้แต่ใดมา?

ปีขาลเสือกำลังจะมา อยากทราบที่มาการใช้ปีนักษัตรของไทย รับจากจีนหรือเปล่า

บงการ

ตอบ บงการ

คำตอบจาก “ค้นกำเนิด 12 นักษัตร จีนถึงไทย” ในเว็บไซต์ silpa-mag.com ดังนี้

คติเรื่อง 12 นักษัตรเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณกาล เรียกได้ว่าเก่าแก่ระดับดึกดำบรรพ์ กระทั่งการค้นหาที่มาต้นตอการใช้สัตว์เป็นชื่อปี นักวิชาการส่วนใหญ่ถึงกับบอกว่าสืบค้นหา หลักฐานยาก ทำได้เพียงปะติดปะต่อเค้าโครงพอบอกเล่าเท่านั้น

ราชบัณฑิตยสภาบรรยายความหมายของคำว่า “นักษัตร” ตรงกับคำอธิบายของส. พลายน้อย ว่าหมายถึง “ชื่อรอบเวลากำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร” โดยให้สัตว์ 12 ชนิดเป็นเครื่องหมาย เริ่มจากปีชวด-หนู, ปีฉลู-วัว, ปีขาล-เสือ, ปีเถาะ-กระต่าย, ปีมะโรง-งูใหญ่, ปีมะเส็ง-งูเล็ก, ปีมะเมีย-ม้า, ปีมะแม-แพะ, ปีวอก-ลิง, ปีระกา-ไก่, ปีจอ-หมา, ปีกุน มีหมูเป็นเครื่องหมาย

ส. พลายน้อย บรรยายว่า 12 นักษัตรมีในกลุ่มเอเชียเท่านั้น ประเทศที่ปรากฏความเชื่อนี้โดยมากใกล้ชิดหรือมีความสัมพันธ์กับไทย อาทิ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา ลาว ทิเบต อาจสะท้อนได้ว่า ชนเหล่านี้มีความเป็นมาสืบเนื่องจากที่เดียวกัน

ข้อสงสัยว่าไทยรับแนวคิดเรื่อง 12 นักษัตรมาจากไหน มีหลักฐานปรากฏหลายแห่ง ตั้งแต่ตำนานการตั้งจุลศักราช กล่าวว่า “เริ่มต้นใช้จุลศักราช 1 เมื่อเช้าวันอาทิตย์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุนเอกศก ตรงกับพุทธศักราช 1182” ขณะที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแพง กล่าวถึง “1214 ศกปีมะโรง” ส. พลายน้อย ตีความว่า พ.ศ. 1835 ไทยใช้ปีนักษัตรหรืออาจมีใช้ก่อนหน้านี้

อีกหลักฐานคือหนังสือพงศาวดารไทยใหญ่ พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ในนามสัตว์ 12 นักษัตรข้างไทยสยามนั้น น่าจะเลียนนามสัตว์ประจำองค์สาขาปีมาจากเขมรอีกต่อ จึงไม่ใช้นามปีตามภาษาไทยเหมือนไทยใหญ่ กลับไปใช้ตามภาษาเขมร ฝ่ายไทยใหญ่เล่าเมื่อคำนวณกาลจักรมณฑลก็ไพล่ไปเลียนนามปีและนามองคสังหรณ์อย่างไทยลาว หาใช้นามปีของตนเองไม่ และไทยลาวน่าจะถ่ายมาจากแบบจีนอันเป็นครูเดิมอีกต่อ แต่คำจะเลือนมาอย่างไรจึงหาตรงกันแท้ไม่ เป็นแต่มีเค้ารู้ได้ว่าเลียนจีน”

อาจกล่าวได้ว่า จุดร่วมไทยกับจีนที่ถือว่าส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของทั้งสองฝ่าย หนึ่งในนั้นย่อมต้องมีเรื่อง 12 นักษัตรรวมอยู่ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน