วันเด็ก : กำเนิดรอบ 2

ไทยมีวันเด็กแล้วเลิกไป กลับมีใหม่ได้ยังไง ก่อนจะงดอีกช่วงโควิด

โท

ตอบ โท

คำตอบสรุปจากบทความ “กำเนิดวันเด็ก ‘ยุคผู้นำเข้มแข็ง’ ชาติกำลังพัฒนา” โดย เกรียงศักดิ์ ดุจจานุทัศน์ เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com ดังนี้

ประเทศไทยยุค พ.ศ.2500 ได้รับขนานนามว่าเป็น “ยุคพัฒนา” ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากการปฏิวัติ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนาประเทศ เป็นผลมาจากภัยคอมมิวนิสต์และการเข้ามีบทบาทของสหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมในประเทศโดยรวมแบบก้าวกระโดด

ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อธิบายนโยบายการขยายอำนาจรัฐและพัฒนาประเทศของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ไว้ในหนังสือ “กำเนิด ‘ประเทศไทย’ ภายใต้เผด็จการ” (สนพ.มติชน ปี 2558) โดยชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่รัฐ ได้แก่ พื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางความคิด ส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม เกื้อหนุนและเชื่อมโยงกันเป็นเอกภาพของ “พื้นที่ประเทศไทย” ในยุคพัฒนา

การพัฒนาในด้านต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้สภาพสังคมเมืองมีลักษณะที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับจำนวนประชากรเด็กและเยาวชนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ “ปัญหาเด็กและเยาวชน” ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเป็นเงาตามตัว สวนทางกับนโยบายของรัฐที่ต้องการปลูกฝังอุดมการณ์การพัฒนาสู่เด็กและเยาวชนในฐานะ “ต้นกล้าของชาติ”

รัฐทำวิจัยและพบว่า เยาวชนมีลักษณะพูดจาหยาบคายและแต่งตัวไม่เรียบร้อย เที่ยวเตร่ตามโรงแรม โรงหนัง ไนต์คลับ ฯลฯ ซึ่งในสายตาของรัฐสถานที่เหล่านี้คือความไม่ดีไม่งามและเสื่อมเสียของเยาวชนอันจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ปัญหาเหล่านี้นอกจากจะมีสาเหตุมาจากการเพิ่มจำนวนของประชากรแล้ว “สื่อ” ยังเป็นอีกปัจจัยที่งานวิจัยชี้ว่าเป็นสาเหตุหลักของปัญหา เพราะเป็นตัวการเผยแพร่สิ่งยั่วยุทางกามารมณ์และอาชญากรรม อีกทั้งยังนำวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่สู่เยาวชน ขัดแย้งกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ในสายตาของรัฐจึงถือว่าเป็นภัย

การแก้ไข้ปัญหาของรัฐคือการปลูกฝังอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาของยุคสมัยให้กับเด็ก คือสร้างความเป็นเด็กดีในอุดมคติของรัฐขึ้นมา ผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่า “งานวันเด็กแห่งชาติ” ซึ่งรื้อฟื้นขึ้นหลังจากเคยจัดมาแล้วในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยจัดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2502

แต่ละปีจะมีการมอบคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรี คำขวัญวันเด็กเหล่านี้สะท้อนถึงอุดมการณ์ของรัฐและบุคลิกของผู้นำคนนั้นๆ

“ในยุคสฤษดิ์ด้วยบุคลิกส่วนตัวมีความโผงผางและเชื่อมั่นในตัวเองสูง สร้างความยำเกรงต่อสาธารณชน โดยใช้อำนาจปราบปราม จับกุม คุมขังเหล่าอันธพาลตั้งแต่ผู้ใหญ่จนถึงเด็กเยาวชน ทำให้เด็กในยุคสฤษดิ์ถูกคาดหวังให้มีลักษณะคล้ายกับทหารที่เคร่งครัดในวินัยและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชาติไทย ในทางตรงกันข้าม ถนอม (กิตติขจร) ที่มีบุคลิกที่ไม่แข็งกร้าว และพยายามนำศีลธรรมเชิงพุทธเข้ามาเป็นการสร้างความชอบธรรมของอำนาจ มุ่งเน้นให้เป็นเด็กดี เป็นพลเมืองดีของสังคม เป็นอนาคตของชาติ”

คำขวัญวันเด็กเป็นกลไกของรัฐในการปลูกฝังอุดมการณ์สู่เยาวชน โดยเฉพาะในยุคพัฒนา ซึ่งประเทศเปลี่ยนแปลงมหาศาล เด็กจึงมีความสำคัญในฐานะต้นกล้าของชาติในยุคถัดไป การย้อนกลับไปมองคำขวัญวันเด็กในยุคพัฒนา พ.ศ.2500 จึงทำให้ได้เห็นถึงกลไกการสร้างชาติในอดีต สะท้อนภาพของประวัติศาสตร์ที่เป็นรากของสังคมปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน