เดลตาครอน (Deltacron)

มาอีกตัวแล้ว เดลตาครอน เป็นยังไงคะ

สิวลี

ตอบ สิวลี

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2565 สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นักวิจัยในสาธารณรัฐไซปรัสค้นพบเชื้อโควิด-19 ที่ผสมระหว่างเชื้อเดลต้ากับเชื้อโอมิครอน และนายเลโอนดิโอส โกสตริกีส์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยไซปรัส เรียกเชื้อโควิดลูกผสมนี้ว่า “เดลตาครอน” (Deltacron) เนื่องจาก สายพันธุ์นี้มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับเชื้อโอมิครอนแต่มีจีโนมของเชื้อเดลตา

นายโกสตริกีส์ และทีมวิจัยพบผู้ติดเชื้อนี้ถึง 25 ราย อ้างอิงข้อมูลจากรายงาน อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีผู้ติดเชื้อดังกล่าวอีกไหมหรือเชื้อชนิดนี้สร้างผลกระทบเช่นไร

“เราอาจจะได้เห็นเชื้อนี้มากขึ้นในอนาคต หากเชื้อสายพันธุ์นี้มีความรุนแรง หรือแพร่เชื้อได้ง่าย หรือระบาดอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดของเชื้อเดลตาและโอมิครอน” นายโกสตริกีส์กล่าวและระบุว่า เชื่อว่าเชื้อโอมิครอนจะค่อยๆ กลืนเชื้อเดลตาครอน โดยล่าสุดได้ส่งผลการศึกษาไปยังจีไอเอสเอไอดี ซึ่งเป็นศูนย์รวมฐานข้อมูลที่ใช้ในการติดตามไวรัสแล้ว

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เท่าที่ติดตามในฐานข้อมูลกลางโควิด-19 โลก หรือจีเสด (GISAID) ยังไม่พบรายงาน เพียงแต่เห็นข้อมูลส่งต่อในสื่อโซเชี่ยลต่างๆ ทั้งนี้ การส่งข้อมูลเข้า GISAID จะต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการยืนยัน โดยจะมีหน้างานที่ควบคุมคุณภาพรหัสพันธุกรรมก่อนส่งเข้าไปในฐานข้อมูลกลาง

“เชื่อว่าเร็วๆ นี้ คงจะทราบแน่ชัดว่ามีการเกิดขึ้นของลูกผสม หรือไฮบริดระหว่างเดลตากับโอมิครอน หรือที่ระบุชื่อกันว่า เดลตาครอน หรือไม่ หากมีจริง จะถือเป็นตัวแรกของโลกที่ เป็นลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน” ศ.เกียรติคุณ วสันต์กล่าวและว่า ที่ผ่านมามีข้อมูลส่งเข้าจีเสดกว่า 6 ล้านตัวอย่าง ก็ยังไม่เคยระบุว่ามีลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ขณะนี้มีทั้งระบุว่าเป็นลูกผสมหรือบางส่วนระบุว่าเป็นเพียงการมี 2 สายพันธุ์ ในคนเดียวกัน แต่ไม่ใช่ลูกผสม ซึ่งประเทศไทยก็เคยเกิดกรณีแคมป์คนงานที่พบคนหนึ่งมีทั้งสายพันธุ์อัลฟาและเดลตาในเวลาเดียวกัน เป็นไปได้ แต่มีไม่มาก ส่วนที่ระบุพบ เดลตาครอนถึง 25 ตัวอย่าง ยังน่าสงสัย เพราะการเกิดลูกผสมหากเกิดขึ้นจริง คงเกิดได้ไม่มาก ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อมูล ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่าเป็นข่าวจริง หรือรายงานอย่างเป็นทางการหรือไม่ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ ติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา ขอให้ทุกคนใจเย็น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน