กรุงแตก
อยู่มา417ปี กรุงศรีอยุธยาก็ถึงกาลอวสาน อยากทราบสภาพคนเมื่อเสียกรุงครับ
โดม
ตอบ โดม
มีคำตอบอยู่ในบทความ “สังคีติยวงศ์ เอกสารสมัยรัชกาลที่ 1 เผยสภาพอยุธยาหลังกรุงแตก” เผยแพร่เว็บไซต์ www.silpa-mag.com

หนึ่งในเอกสารที่บันทึกถึงสภาพของกรุงศรีอยุธยาหลังกรุงแตกคือ “สังคีติยวงศ์” ผู้แต่งคือ สมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ 1 รจนาเป็นภาษาบาลี (พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปลเป็นภาษาไทย) ความที่บันทึกไว้มีดังนี้

“ในปีระกาที่ 6 พระเจ้ารตนอาวราช ให้ตระเตรียมการรบแล้วส่งมหาสุรโยธา พร้อมเสนาเปนอันมาก เพื่อจะยึดเอากรุงอโยธยนคร…มหาสุรโยธาพาพลนิกายมากมายมายังกรุงอโยธยนคร ได้รบด้วยชาวพระนครทั้งหลาย แต่ชาวพระนครไม่รู้จักรบ ขี้ขลาด ไม่เปนน้ำหนึ่งกัน ไม่เปนใจเดียวกัน ไม่ปลงงานเดียวกัน มีใจ ต่างๆ กัน ต่างพากันหนีเสีย

พระนครนั้นต้องล้อมอยู่ 2 ปี ชาวเมืองทั้งหลายก็สิ้นเสบียงอ่อนเพลียเสียพระนคร เมื่อพุทธศักราชล่วงได้ 2310 ปีกุนกับปีจอต่อกัน เดือนสาม ขึ้น 9 ค่ำ วันอังคารยามเสาร์เพลาราตรี ก็เป็นที่สุดการสงคราม

พระนครนั้นก็ฉิบหายตามกาลอย่างใด ความฉิบหายอย่างใด สิ้นอายุแล้วอย่างใด แปรปรวนแล้วอย่างใด สาปสูญโดยประการใด (พม่าข้าศึก) จับเอาประชาชนทั้งหลายมีพระราชวงศ์เปนต้นด้วย เก็บทรัพย์ทั้งหลายมีประการเปนอันมากด้วย แล้วเผาพระนครแลปราสาทสามองค์ แลพระอารามวิหารเสียด้วย แล้วทำลายกำแพงเมืองเสียด้วย แล้วทำพัศดุของกรุงอโยธยนคร มีพระธรรมแลพระวินัยคือไตรปิฎกเปนต้น ให้พินาศเสียแล้ว…

เมื่อกรุงอโยธยนครนั้น อันพม่าปัจจามิตรได้ให้พินาศโดยเหตุทั้งหลายต่างๆ ในคราวนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงอโยธยราชก็ หนีออกจากพระนครไปซ่อนอยู่ในป่า อดพระกระยาหาร ครั้นปัจจามิตรจับได้ อ่อนกำลังแล้วก็สิ้นชีพไปเอง ประชาชนทั้งหลายท่วมทับอยู่ ด้วยความโศก ปริเทวทุกข์โทมนัสอุปายาส (แปลว่า ความคับแค้นใจ) มากมาย

ต่างพากันหิวโหยโรยแรงทั่วไป พลัดพรากจากญาติมิตรลูกเมียทั้งหลาย ฉิบหายวายร้ายจากเครื่องใช้สอย อุปโภค บริโภค ทรัพย์สินเงินทองแก้วแหวนข้าวของทั้งหลาย หาที่พึ่งพามิได้ เปนทุคตกำพร้าร้ายกาจเปนอันมาก ปราศจากข้าวปลาอาหารผ้าผ่อน เครื่องนุ่งห่ม ซูบผอมเผือดผิดร่างกายซุดโทรมไป ได้แต่ต้นไม้ใบหญ้า เครือเถาเหง้าเปลือกใบไม้ดอกผลพืชเปนอาทิเปนอาหาร พวกมนุษย์ทั้งหลายมากมายพลัดพรากกันไป ต่างเที่ยวสัญจรซัดเซไปในตำบลต่างๆ เลี้ยงชีวิตฝืดเคืองแสนทุกข์ยากเปนอันมาก

มนุษย์ทั้งหลายนั้นคุมกันเปนหมู่เปนพวก ปล้นชิงข้าวเปลือกข้าวสาร เกลือเปนอาทิ ได้อาหารบ้าง มิได้บ้าง ซูบผอมลง เนื้อเลือดก็ลดน้อยลง รุมรึงอยู่ด้วยทุกข์ยากสาหัส ตายไปบ้าง ยังไม่ตายบ้าง ประชาชนได้ถึงความวิโยค 2 ประการ คือ ญาติวิโยค 1 สมบัติวิโยค 1 ได้ปราศจากเมตตาจิตซึ่งกันแลกัน อันภัยเกิดแต่ความหิว หากบีบคั้นหนักเข้าแล้ว ก็ไม่สามารถเอื้อเฟื้อต่อพระพุทธรูปแลพระธรรมพระสงฆ์ได้…”

แม้ “สังคีติยวงศ์” จะเป็นบันทึกการสังคายนาพระธรรมวินัยที่ความส่วนใหญ่กล่าวถึงพระพุทธศาสนา แต่ก็มีส่วนที่บันทึกสภาพของหลังกรุงแตก ซึ่งทำให้เห็นข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่งนอกเหนือจากในพระราชพงศาวดารหรือบันทึกของชาวต่างชาติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน