คลองโอ่งอ่าง
น้าชาติ ขอประวัติการขุดคลองโอ่งอ่าง ไม่เอาบรรยากาศปัจจุบันนะคะ
ขนบพร
ตอบ ขนบพร
“คลองโอ่งอ่าง” เป็นชื่อเรียกบริเวณช่วงตอนหนึ่งของคลองรอบกรุงซึ่งขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากสร้างพระบรมมหาราชวัง ตามด้วยการขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างออกไป โดยใน พ.ศ.2326 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองใช้เป็นเส้นทาง สายใหม่ในการคมนาคม คือขุดคลองคูเมืองเดิมเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ผ่านวัดบวรนิเวศวิหาร, วัดเทพธิดาราม, วัดสระเกศ, วังบูรพาภิรมย์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ เหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม)
คลองขุดใหม่นั้นมีระยะทางยาวไกล 85 เส้น 13 วา (3.426 กิโลเมตร) กว้าง 10 วา (ประมาณ 20 เมตร) ลึก 5 ศอก (ประมาณ 2.5 เมตร) ระดมทหารเกณฑ์ชาวเขมรจำนวนถึง 10,000 คน มาเป็นแรงงานขุดคลองสายประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทรที่พระราชทานนามว่า “คลองรอบกรุง”
ในการครั้งนั้นได้สร้างกำแพงประตูเมือง ป้อมปราการ เลียบแนวคลองด้านใน ตลอดทั้งคลอง ประตูเมืองและป้อมปราการเว้นระยะห่างกันเป็นช่วงๆ ถึง 9 ช่วง เป็นคลองคูเมืองชั้นนอก เมื่อขุดคลองแล้วพื้นที่เมืองจึงกลายเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ คือ ด้านตะวันตกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านตะวันออกเป็นคลองรอบกรุง
การขุดคลองรอบกรุงนำความรุ่งเรืองมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ที่คับคั่งไปด้วยเรือแพนาวาขายสินค้านานาชนิด ทั้งยังเป็นถิ่นที่อยู่ของคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้ง มลายู มอญ และชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาค้าขายกับสยามประเทศ
คลองรอบกรุง แต่เดิมมีชื่อเรียกแตกต่างกันเป็นตอนๆ ตามสถานที่สำคัญที่คลองผ่าน คือ ตอนต้นเรียก “คลองบางลำพู” ตามชื่อตำบล, เมื่อผ่านสะพานหันเรียก “คลองสะพานหัน”, เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก “คลองวัดเชิงเลน” และช่วงสุดท้ายเรียก “คลองโอ่งอ่าง” เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายโอ่ง อ่าง กระถาง และภาชนะต่างๆ ที่ปั้นด้วยดินเผาของชาวมอญและชาวจีน
การที่เรียกชื่อแตกต่างกันมีมาตั้งแต่สมัยไหนนั้นไม่สามารถค้นหลักฐานได้ จากหนังสือเก่าซึ่งพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการเรียกชื่อคลองโอ่งอ่างกับคลองบางลำพูแล้ว
สำหรับช่วงที่เรียกชื่อ คองโอ่งอ่าง มีขอบเขตจากปากคลองมหานาคไปถึงปากคลองซึ่งหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ ข้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า มีระยะทางรวมประมาณ 750 เมตร
ในอดีตคลองโอ่งอ่าง เป็นช่วงคลองสัญจรที่สำคัญของฝั่งพระนคร ประกอบด้วยชุมชนตลอดสองฝั่งคลอง และเป็นแหล่งขายเครื่องปั้นดินเผา โอ่ง อ่าง (ที่มาของข้อสันนิษฐานถึงชื่อคลองโอ่งอ่าง) ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างสะพานหันที่ถอดรูปแบบสะพานริอัลโต เมืองเวนิซ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ในยุคนั้น
เมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้น ความสำคัญของคลองลดลงเพราะการสัญจรเปลี่ยนรูปแบบไปใช้ถนน โดยรอบคลองเกิดเป็นชุมชนแออัด และแปรเปลี่ยนสภาพเป็นคลองระบายน้ำทิ้ง โดยเฉพาะนับแต่ พ.ศ.2526 ที่กรุงเทพมหานครจัดสัมปทานเปิดพื้นที่ให้เช่าบนฝั่งคลองโอ่งอ่าง จนกลายเป็นย่านสะพานเหล็กทับคลอง กระทั่งเดือนตุลาคม 2558 กรุงเทพมหานครจึงได้รื้อถอน อาคารร้านค้าต่างๆ ตลอดริมคลองที่บดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้เป็นถนนคนเดิน