หนูมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมอย่างที่ดาราฝรั่งเป็น อยากรู้สาเหตุและวิธีรักษา
หนูบี
ตอบ หนูบี
คำตอบนำมาจากรายงานเผยแพร่ทางมติชนออนไลน์ อ้างอิงข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ การอักเสบนี้ไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร ดังนั้นหลังโรคสงบลง ผมหรือเส้นขนจะงอกขึ้นใหม่ได้

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทราบเพียงแต่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติมาทำลายรูขุมขน โรคที่อาจพบร่วม คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ด่างขาว หรือกลุ่มโรคภูมิแพ้ ทั้งนี้ ร้อยละ 20 ของผู้ป่วย จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย จึงเชื่อว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค

แบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรงได้ดังนี้ Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว, Alopecia totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด และ Alopecia universalis (AU) : ผมที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

เกิดได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง อายุเฉลี่ยคือประมาณ 30 ปี อย่างไรก็ตามอาจเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิดเฉลี่ยคือ 1 ใน 1,000 คน หรือ 2%

ผู้ป่วยจะมีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะกลม ขอบเขตชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยมากมักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ แต่อาจมีอาการคันหรือแสบนำมาก่อน มักเกิดบนศีรษะ แต่ก็เกิดที่ตำแหน่งอื่นๆ ได้ (ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว) อาจพบผมหักเป็นตอสั้นๆ ติดหนังศีรษะบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลัง จะขยาย เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขึ้นใหม่เปราะและผิดปกติ

อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย โดยอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วง ความผิดปกติของเล็บที่พบบ่อยที่สุด คือพบหลุมเล็กๆ บนผิวของแผ่นเล็บ

โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มีผลต่อความสวยงามค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้มีผลกระทบทางด้านจิตใจ

ยังมีรายละเอียดจาก พญ.วิสุทธิพา คุณณะรักษ์ไทย หัวหน้าแพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและเลเซอร์ โรงพยาบาลยันฮี ว่า สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาวมาทำลายรากผม นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค อาจเกิดจากความเครียด พักผ่อนน้อย ภาวะโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เป็นต้น

ในการวินิจฉัยโรค แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงทางคลินิก คือ มีลักษณะผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะเป็นการร่วงแบบไม่มีแผลเป็น อาจมีหย่อมเดียวหรือหลายหย่อม ในบางกรณีอาจต้องตัด ชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วย

แม้ว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมจะไม่ใช่โรคติดต่อ และยังไม่มีบันทึกถึงวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรค แต่สามารถรักษาเพื่อให้อาการบรรเทาลงได้ โดยหากพบว่าคนไข้มีอาการไม่รุนแรงสามารถใช้ยาทาหรือยาฉีดกลุ่ม Steroid ได้ แต่หากเป็นมากอาจพิจารณาให้ยากดภูมิคุ้มกันแบบอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งในผู้ป่วย บางรายอาจมีโอกาสรักษาให้หายขาด ส่วนรายที่มีอาการเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน