ยกฟ้องก่อการร้าย ปิดฉากวาทกรรม ‘เผาบ้านเผาเมือง’ ลุยจี้ต่อคดีฆ่า 99 ศพ : แฟ้มคดี

 

ยกฟ้องก่อการร้าย ปิดฉากวาทกรรม ‘เผาบ้านเผาเมือง’ ลุยจี้ต่อคดีฆ่า 99 ศพ : แฟ้มคดี – เป็นอีกหนึ่งบทสรุปของคดีชุมนุมทาง การเมือง เมื่อศาลอาญาพิพากษายกฟ้องแกนนำนปช. 24 คน ที่ถูกกล่าวหาก่อการร้าย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมือง ด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เลือกตั้งใหม่ อันเป็นวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

และเป็นการชุมนุมที่ไม่มีการปลุกปั่นยุยงให้เกิดความรุนแรง

ยิ่งไปกว่านั้นยังชี้ให้เห็นถึงถ้อยคำที่ถูกยกขึ้นอ้างมาตลอดในเรื่องขนน้ำมันคนละขวด ว่าเป็นเรื่องการปราศรัยทางการเมือง

หลังจากปราศรัยก็ไม่มีเหตุรุนแรง

ย้ำกับเรื่องที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าคนเสื้อแดงไม่ได้เผาห้าง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่การชุมนุมเลิกไปแล้ว

ยิ่งแสดงให้เห็นภาพชัดเจนว่าการชุมนุมเมื่อปี 2553 เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ

อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่ค้างคา นั่นก็คือความตายทั้ง 99 ศพที่เกิดขึ้นในช่วงชุมนุม ที่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

ก็ต้องทวงถามต่อไปให้ความจริงปรากฏ

เซ็นทรัลเวิลด์

ศาลยกฟ้องก่อการร้าย

วันที่ 14 ส.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี และพวกรวม 24 คน ในความผิดข้อหาร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

และขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย และร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่าการกระทำอันจะเป็นความผิดฐานก่อการร้ายนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

แต่หากเป็นการกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

จากการนำสืบของโจทก์ ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่ามีจำเลยคนหนึ่งคนใด ปราศรัยหรือกระทำการอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำการดังที่ได้ระบุไว้

แม้โจทก์จะมีพยานเบิกความต่อศาลว่า ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง แต่ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใด หรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่

ส่วนเรื่องชายชุดดำก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใด และไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ ทั้งๆ ที่สถานที่ที่ปรากฏตัวชายชุดดำมีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมาก

การที่แกนนำกลุ่ม นปช.ปราศรัยบนเวทีที่ว่าหากทหารออกมาสลายการชุมนุม หรือทำรัฐประหาร ให้ประชาชนนำน้ำมันมาและให้เผานั้น เป็นการกล่าวปราศรัยบนเวที ก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่มีการปราศรัยแต่อย่างใด

การวางเพลิงเผาทรัพย์เกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค. 2553 ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช.ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยในเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ ว่ามิใช่เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช.

การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนต่อต้านการทำรัฐประหาร เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

พิพากษายกฟ้อง

ปิดฉากวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองอีกครั้ง

เสื้อแดงชุมนุม

ย้อนคำพิพากษาคดีเผาปี 53

เมื่อย้อนคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 62 ในคดีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท ศูนย์รับฝากทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แฟมิลี่ โนฮาว จำกัด โจทก์ที่ 1-3 ฟ้องร้องบริษัทประกันภัย ที่ไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหม ที่เกิดจากความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 โดยอ้างว่าเป็นภัยที่เกิดจากการก่อความไม่สงบของประชาชน ซึ่งเข้าข้อยกเว้นความรับผิดชอบ

ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค ประชุมวินิจฉัยว่า เหตุความเสียหายดังกล่าวเป็นผลมาจากกลุ่มคนบุกรุกเข้าไปในอาคาร และก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ จนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นภัยที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้ และการกระทำด้วยเจตนาร้ายซึ่งเป็นภัยที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกรมธรรม์

นอกจากนี้เห็นว่าแม้กลุ่มบุคคลบุกรุกเข้าทุบทำลายอาคารฯ จะเกิดขึ้นวันเดียวกับวันที่รัฐบาลส่งทหารเข้าสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ แต่นายสมชาย แซ่เล้า รปภ. ให้การกับดีเอสไอ ว่า วันเกิดเหตุมีชายฉกรรจ์ปิดบังใบหน้า บุกรุกเข้ารื้อแผงกั้นจราจรที่วางเป็นแนวรั้วชั่วคราวและใช้อิฐตัวหนอน ป้ายโลหะ และถังดับเพลิง ทุบทำลายกระจก ประตู หน้าต่างของอาคาร เข้าไปจุดไฟเผาอาคาร โดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำของนปช. หรือของประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง ตามที่จำเลยทั้งหกอ้าง

ประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าภายหลังรัฐบาลส่งกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของนปช.ที่แยกราชประสงค์ แกนนำผู้ชุมนุมประกาศยุติ และเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.

ส่วนประชาชนที่ร่วมชุมนุมก็ทยอยเดินออกจากสถานที่ชุมนุมเพื่อขึ้นรถโดยสารที่รัฐบาลจัดให้เดินทางกลับภูมิลำเนา

โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ณ บริเวณสถานที่ชุมนุมดังกล่าว หรือในสถานที่ชุมนุมอื่น ยังมีประชาชนประท้วงต่อต้านรัฐบาลอยู่ต่อเนื่อง หรือเกิดการชุมนุมโดยประชาชนกลุ่มอื่นขึ้นมาใหม่

และเหตุเพลิงไหม้อาคาร เกิดขึ้นในเวลา 15.00 น. หลังจากที่การชุมนุมยุติไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ตลอดจนผู้ก่อเหตุมีประมาณ 10 คน ที่ปิดบังอำพรางใบหน้า และกระทำในลักษณะมีเจตนาก่อเหตุร้ายแล้วหลบหนีไปทันที โดยไม่มีประชาชนร่วมกระทำการ

พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้ายที่หวังผลทางการเมือง

จำเลยทั้งหกจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

จี้ต่อหาคนสั่งฆ่า 99 ศพ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคดีเผาและก่อการร้ายจะเป็นที่ยุติ แต่ก็ยังมีคดีความตาย 99 ศพ ที่หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 แล้ว คดีก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

โดยใน 99 ศพนั้นมีอย่างน้อย 17 ศพที่ผ่านการไต่สวนการตายของศาล และชี้ว่าเกิดจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย 1.นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิต หน้าคอนโดฯ ไอดีโอ ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ 2.นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงเสียชีวิต หน้าปั๊มเชลล์ ถ.ราชปรารภ 3.นายชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงเสียชีวิตหน้าอาคารอื้อจือเหลียง ถ.พระราม 4

4.ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ซ.หมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถ.ราชปรารภ 5.พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิต หน้าอนุสรณ์สถาน ถ.วิภาวดีรังสิต 6.นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิตาลี ถูกยิงเสียชีวิตที่ ถ.ราชดำริ

7.นายรพ สุขสถิต 8.นายมงคล เข็มทอง 9.นายสุวัน ศรีรักษา 10.นายอัฐชัย ชุมจันทร์ 11.นายอัครเดช ขันแก้ว และ 12.น.ส.กมนเกด อัคฮาด ถูกยิงเสียชีวิตหน้าวัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 13.นายจรูญ ฉายแม้น และ 14.นายสยาม วัฒนนุกูล ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 10 เม.ย.2553 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ

15.นายถวิล คำมูล ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค.2553 บริเวณป้ายรถแท็กซี่ข้างรั้วสวนลุมพินี ถ.ราชดำริ ศาลมีคำสั่งว่าถูกวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่า บุคคลใดเป็นผู้ลงมือกระทำอันเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่

16.นายนรินทร์ ศรีชมภู ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณทางเท้าหน้าคอนโดฯ บ้านราชดำริ ถ.ราชดำริ ใกล้แยกสารสิน และ 17.นายเกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553

เป็นคดีที่ต้องทวงถามความยุติธรรมกันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน