ผ่าวิกฤตโควิดระบาด ติดเชื้อร่วมพัน-ตาย5 พรก.ฉุกเฉินคุมทั้งปท. สธ.แนะวิธีจัดการศพ : แฟ้มคดี

ผ่าวิกฤตโควิดระบาด – ถือเป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุด สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19

ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ถือเป็นบททดสอบประสิทธิภาพของรัฐบาล ที่จะวางมาตรการป้องกันดูแลไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว จนเกินกว่าศักยภาพทางการแพทย์จะรับไหว

แต่สถานการณ์ก็ดูจะไม่ทุเลาลง มีผู้ป่วยต่อวันจากหลักสิบขึ้นเป็นหลักร้อย

จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่รัฐบาลต้องออกมาตรการ ด้วยการประกาศใช้อำนาจตามพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเข้ามาควบคุม

หลังจากที่โรคระบาดจากสนามมวย และสถานบันเทิงแพร่กระจายไปเกือบทั่วประเทศ

จนมียอดผู้ป่วยสะสมร่วมพันราย รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย

จึงเป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาถึงเส้นทางการติดเชื้อ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการป้องกันตัวต่อไป

ผ่าวิกฤตโควิดระบาด

ด่านโควิด

■ ผ่าวิกฤตโรคโควิด-19

สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดจากนครอู่ฮั่น ประเทศจีน เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 หรือค.ศ.2019 หลังจากที่พบผู้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รับทราบสถานการณ์ พร้อมสั่งเฝ้าระวังคัดกรองประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง โดยเฉพาะนครอู่ฮั่น มาตั้งแต่ต้นปี 2563 พร้อมยกระดับเฝ้าระวังเป็นระดับที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 2563

ซึ่งผลการตรวจยืนยันพบผู้ป่วยในประเทศไทยรายแรกตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. จากนั้นสถานการณ์ก็อยู่ในการควบคุมจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้น จนตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

จนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งการระบาดของโรคอย่างรุนแรง นั่นก็คือการตรวจพบการติดเชื้อแบบกลุ่มเป็นครั้งแรก คือพบติดโควิดพร้อมกัน 11 คน เมื่อวันที่ 12 มี.ค. โดยระบุว่าเป็นกลุ่มที่เที่ยวสถานบันเทิง ผับบาร์ย่านทองหล่อ โดยติดมาจากเพื่อนชาวฮ่องกง

ผ่าวิกฤตโควิดระบาด

แมทธิว ดีน

จากนั้นดารานักแสดงชื่อดัง ‘แมทธิว ดีน’ ออกมาโพสต์ในไอจียอมรับว่าตัวเองติดโควิด-19 และขอให้บุคคลที่ใกล้ชิดรีบไปตรวจสอบ

ทันทีที่ข้อมูลนี้ออกมาส่งผลให้เกิดความหวาดผวาทั้งในวงการดารา ที่แมทธิวร่วมถ่ายรายการ รวมทั้งวงการกีฬา ที่เจ้าตัวเดินทางไปเป็นพิธีกรรายการมวย ที่เวทีลุมพินี เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา

ครั้งแรกกระทรวงสาธารณสุขยังแสดงความเคลือบแคลงข้อมูล เนื่องจากไม่มีข้อมูลแจ้งเข้ามาตามมาตรการป้องกันโรคที่ต้องแจ้งต่อกระทรวง แต่เมื่อผลตรวจสอบซ้ำครั้งที่ 2 ออกมาว่าเป็นจริง จากนั้นบรรดาเซียนมวยที่เดินทางไปร่วมรับชมมวยในวันดังกล่าวก็ประกาศตัวว่าล้วนติดโควิด-19

กลายเป็น 2 เหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง

โดยผู้ที่ติดเชื้อที่สนามมวย มีตั้งแต่เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ที่เป็นประธานจัดแข่งมวยในวันดังกล่าว และลามไปที่เวทีราชดำเนิน ลุมพินี จิตรเมืองนนท์ มีทั้งผู้ชม ญาติผู้ชม คนดูแลค่ายมวย เจ้าหน้าที่ทำงานในสนามมวย โดยเฉพาะเซียนมวย ที่หลังจบการแข่งขันเดินทางไปทั่วประเทศ

ส่วนกลุ่มสถานบันเทิง ทั้งจากย่านทองหล่อ สุขุมวิท รามคำแหง มีทั้งนักเที่ยว แฟนนักเที่ยว ดีเจ พนักงานทำความสะอาด พ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ พิธีกร รองผู้จัดการร้าน แคชเชียร์

อีกกลุ่มที่น่าจับตาคือกลุ่มที่เดินทางกลับจากพิธีทางศาสนาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ตามมาด้วยยาแรงด้วยการสั่งปิดผับบาร์ ห้างสรรพสินค้า ใน กทม.และปริมณฑล สถานศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งจำกัดการเดินทางออกต่างจังหวัด

ผ่าวิกฤตโควิดระบาด

ตุนสินค้า

■ ย้อนที่มา-เสียชีวิต 5 ราย

สำหรับตัวเลขผู้ป่วยในประเทศ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 1,136 ราย รักษาหายกลับบ้าน 70 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาล 860 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 11 ราย มีเสียชีวิต 5 ราย พบผู้ป่วยแล้ว 52 จังหวัด

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตรายแรกเป็นชาวไทย อายุ 35 ปี เป็นพนักงานขายสินค้า เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มี.ค.โดยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมาก่อนเมื่อวันที่ 27 ม.ค. รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน จากนั้นติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย ส่งรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 5 ก.พ. แต่รักษาจนไม่พบเชื้อแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากรักษา 1 เดือน พบว่าปอดเสื่อม อวัยวะภายในล้มเหลว จึงเสียชีวิตในที่สุด

โดยส่วนงานสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ว่า ผู้ตายเป็นพนักงานส่งเสริมการขายสินค้าของบริษัทคู่ค้า ที่มีสินค้าจำหน่ายในสาขาศรีวารี โดยมีอาการไข้ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. 63 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งระบุว่าเป็นไข้หวัดใหญ่

ต่อมาวันที่ 29 ม.ค. 63 อาการดีขึ้น จึงกลับมาทำงาน ช่วงเย็นมีอาการป่วย จึงเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และแจ้งลางานกับต้นสังกัดด้วยโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-4 ก.พ. จากนั้นในวันที่ 5 ก.พ. ถูกส่งตัวไปสถาบันบำราศนราดูร แพทย์ตรวจพบโรคโควิด-19 ในวันที่ 6 ก.พ.

บริษัทจึงปิดให้บริการสาขาศรีวารีเป็นต้นมา และให้ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าตรวจบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่ทำงานที่สาขาศรีวารีเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นก็ดำเนินการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส พร้อมปิดสาขาศรีวารีตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา

สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นชายวัย 70 ปี อาชีพขับรถทัวร์จีน ที่รักษาตัวมาต่อเนื่องในโรงพยาบาลบำราศนราดูรกว่า 1 เดือน 22 วัน

โดยเริ่มแสดงอาการเมื่อวันที่ 28 ม.ค. รักษาตัวที่ร.พ.เอกชนแถวสมุทรปราการ หมอระบุป่วยเป็นปอดอักเสบ ต่อมาวันที่ 2 ก.พ.โรงพยาบาลเอกชนส่งตัวไปที่สถาบันบำราศนราดูร พบมีอาการวัณโรคร่วม ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 23 มี.ค.

ผ่าวิกฤตโควิดระบาด

เวทีลุมพินี

■ ย้ำมาตรการ-ศพไม่แพร่เชื้อ

ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 3 คือชาวไทยอายุ 79 ปี เป็นเซียนมวย ที่ติดเชื้อจากสนามมวย มีอาการหนักตั้งแต่แรกรับ มีโรคประจำตัวแทรกซ้อนหลายโรค เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 16 มี.ค. เสียชีวิตในวันที่ 23 มี.ค.

ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายที่ 4 เป็นชายชาวไทย อายุ 45 ปี เป็นการ์ดของผับย่านทองหล่อ โดยมีประวัติเป็นผู้ป่วยเบาหวาน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ด้วยอาการไข้สูง อาเจียน มีน้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว ตอนแรกคิดว่าเป็นอาการน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากความเครียด เนื่องจากมีประวัติรักษาน้ำตาลในเส้นเลือด

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลพบค่าน้ำตาลในเลือดสูงเกือบ 400 mmol/L จึงส่งเข้าห้องไอซียูเพื่อรักษาด้วยการให้อินซูลิน 1 คืน

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ช่วงบ่ายน้ำตาลในเลือดลดลง จึงออกจากห้องไอซียู แต่ยังมีไข้สูง ญาติร้องขอให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพราะมีประวัติใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ เนื่องจากเป็นการ์ดผับย่านสุขุมวิท จึงใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ แต่ตรวจสอบแล้วไม่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ทำให้ไม่ได้ตรวจหาเชื้อ

จากนั้นวันที่ 15 มี.ค. ทางโรงพยาบาลพาผู้ป่วยเข้าไอซียูอีกครั้ง เนื่องจากมีอาการเหนื่อยหอบ บริษัทต้นสังกัดจึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นเงิน 5,500 บาท เมื่อตรวจสอบจนผลออกมาเมื่อวันที่ 19 มี.ค. พบว่าติดเชื้อโควิด-19 จริง

กระทั่งเช้าวันที่ 22 มี.ค. เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แพทย์ปั๊มหัวใจช่วยชีวิตขึ้นมาได้ แต่สุดท้ายอาการไม่ดีขึ้น ก่อนจะช็อกและเสียชีวิตเมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 23 มี.ค.

ศพที่ 5 คือชายวัย 50 ปี ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พบมีประวัติเดินทางไปร่วมบรรยายธรรม ที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-2 มี.ค. แล้วเดินทางข้ามพรมแดนเมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ก่อนเข้าสอบสวนโรคที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 มี.ค.

ด้าน นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า สำหรับการจัดการศพนั้น ผู้ที่จะเข้าดูแลร่างผู้เสียชีวิตจะใส่ชุดป้องกันตัวอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าร่างจะมีเชื้อแล้วหรือไม่ก็ตาม โดยจะนำสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ นำมาอุดตามช่องอวัยวะต่างๆ จากนั้นพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อทุกด้านของร่างกาย แล้วจึงนำร่างบรรจุถุงซิปล็อก 3 ชั้น

หลังบรรจุชั้นที่ 1 สเปรย์ฆ่าเชื้อ แล้วนำบรรจุลงในถุงชั้นที่ 2 ฉีดพ่นฆ่าเชื้อ แล้วบรรจุลงถุงชั้นที่ 3 แล้วฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้ออีกรอบ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ดูแลผู้เสียชีวิตว่าถุงซิปชั้นนอกสุดจะไม่มีเชื้อโรคเลย โดยถุงซิปบรรจุร่างเป็นถุงสำหรับใส่ร่างศพจากโรคติดต่ออันตราย โอกาสหลุดรอดหรือรั่วเป็นไปได้ยาก

หลังจากบรรจุศพแล้วจะไม่เปิดถุงอีก เมื่อเคลื่อนย้ายศพมาถึงวัดก็สามารถดำเนินการตามพิธีทางศาสนาได้ตามปกติ

การฌาปนกิจก็จะดำเนินการโดยการเผาถุงซิปทั้งหมดไปด้วยเลย เชื้อโรคจะไม่หลุดรอดออกมา

เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ที่ต้องฝ่าฟันกันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน