แฟ้มคดี

เข้มข้นอย่างยิ่ง สำหรับการไล่ล่าอดีตพระพรหมเมธี 1 ในผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด

ที่ไม่ยอมจำนนง่ายๆ เหมือนพระเถระคนอื่น แต่ใช้เครือข่ายลูกศิษย์ใกล้ชิดช่วยพาหนี จนสามารถออกจากประเทศไทยได้สำเร็จ

ก่อนขึ้นเครื่องบินมุ่งหน้าไปยังนครแฟรงก์เฟิร์ต เพื่อยื่นเรื่องขอลี้ภัย

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ติดตามอย่างไม่ลดละ ประสานทางตม.เยอรมันควบคุมตัวได้ทันควัน

พร้อมกันนั้นบิ๊กแป๊ะ ผบ.ตร. ก็บินตรงไปประสานงานด้วยตัวเอง

หวังจะนำตัวกลับไทยมาดำเนินคดี

แต่แล้วก็ต้องรอผลการพิจารณา เพราะพระพรหมเมธียื่นเรื่องขอลี้ภัยเรียบร้อย ต้องอยู่ที่ว่าผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไร

เพราะแม้ไทยจะยืนยันชัดเจนว่าเป็นเรื่องคดีทุจริต ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือศาสนา

แต่ก็ไม่สามารถก้าวล่วงดุลพินิจของเยอรมันได้

ต้องรอลุ้นกันต่อไป

ปฏิบัติการล่าพรหมเมธี

หลังปฏิบัติการบุกจับพระเถระ ในคดีเงินทอนวัดเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา สามารถจับกุมดำเนินคดีได้แล้วทั้งหมด 6 รูป

ยังเหลือเพียงรูปเดียวที่ยังหลบหนี ซึ่งก็คือ พระพรหมเมธี (จำนงค์ เอี่ยมอินทรา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งล่าสุดราชกิจจานุเบกษา ประกาศเรื่องโปรดเกล้าฯถอดสมณศักดิ์เรียบร้อย

ปฏิบัติการไล่ล่าจึงบังเกิดขึ้น เริ่มที่การไล่เรียงช่วงเวลาของอดีตพระพรหมเมธี ตั้งแต่ถูกออกหมายจับ

จนพบว่าเมื่อวันที่ 24 พ.ค. อดีตพระพรหมเมธีเดินทางไปรับกิจนิมนต์ที่จ.พิษณุโลก เมื่อได้รับข่าวการบุกจับ ก็เปลี่ยนแผนไม่เดินทางกลับวัด แต่เดินทางไปกบดานอยู่ที่วัดป่าสุคนธรักษ์ อ.เรณูนคร จ.นครพนม เพื่อรอจังหวะติดต่อลูกศิษย์ที่อยู่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศลาว ให้มาพาหลบหนีออกตามช่องทางธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังพบว่า อดีตพระพรหมเมธี รู้ตัวอยู่แล้วว่าตกเป็นเป้าถูกจับกุมคดีเงินทอนวัด ถึงกับเคยพูดผ่านกลุ่มลูกศิษย์ให้ไม่ต้องกังวล เพราะหากเกิดเรื่องจริง ก็พอจะมีช่องทางหลบหนีอยู่แล้ว

หลังได้ข้อมูลที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ลงพื้นที่จ.นครพนม และข้ามไปยังแขวงคำม่วน เพื่อหาข่าว และติดตามล่าตัวอดีตพระพรหมเมธี

เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำ สีกาจุ๋ม อายุ 50 ปี ลูกศิษย์คนสนิทชาวไทย ที่สามารถควบคุมตัวมาจากด่านตม.สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 (นครพนม-คำม่วน) ขณะกำลังเข้าประเทศมาสอบสวน

ซึ่งก็รับสารภาพว่า เป็นผู้ใช้รถตู้โตโยต้า อัลพาร์ด สีบรอนซ์เงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน พาอดีตพระพรหมเมธี หลบหนี

พระพรหมเมธี / จับคดีเงินทอน

พร้อมเล่าถึงวินาทีที่ตัดสินใจเผ่นว่า เมื่อกลางเดือนพ.ค. ตนนิมนต์อดีตพระพรหมเมธีไปรับกิจที่จ.พิษณุโลก ขณะที่กำลังจะเดินทางกลับวัดสัมพันธวงศ์ ก็ได้ข่าวว่าตำรวจเปิดปฏิบัติการไล่ล่าครั้งใหญ่ จึงเปลี่ยนใจ ให้รถมาส่งที่จ.นครพนม แล้วเปลี่ยนรถข้ามโขงไปยังประเทศลาว

แต่ระหว่างนั้นเป็นห่วงรถตู้ที่จอดตากแดด จึงวานให้ชาวลาวที่รู้จักกันให้หาคนไปขับเอาไปจอดเก็บข้างโรงครัววัดป่าสุคนธรักษ์ อ.เรณูนคร เพราะเคยรู้จักกับเจ้าอาวาสวัดนี้มาก่อน

จ่อจับ 5 คน-สอบวินัยตม.

ส่วนสีกาจุ๋มได้เดินทางไปส่งพระพรหมเมธี และคนขับรถที่ฝั่งลาว แล้วมีคนมารับช่วงต่อไปเมื่อช่วงสายของวันที่ 26 พ.ค. โดยไม่ทราบว่านำไปหลบซ่อนที่ใด ก่อนจะเดินทางกลับประเทศ โดยให้คนขับพาข้ามสะพานไทย-ลาว เมื่อเช้าวันที่ 31 พ.ค. แล้วจึงถูกตำรวจคุมตัวไว้สอบสวน ส่วนชาวลาวที่ขับรถมาส่ง เจ้าหน้าที่ปล่อยกลับประเทศไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้จากการสอบสวนพบว่าสีกาจุ๋ม เป็นเจ้าแม่ตลาดหุ้นในไทย เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนขนาดใหญ่หลายแห่ง มีสามีเป็นคนไทย ทำสัมปทานเหมืองแร่ทองคำอยู่แขวงสาละวัน ทางภาคใต้ของลาว

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ขอศาลอนุมัติหมายจับ 5 คนคือ 1.นางศศิร์อร เจียมวิจิตรกุล หรือ สีกาจุ๋ม สัญชาติไทย 2.นายพีรวิช ศรีศรัทธา สัญชาติไทย 3.จันทนา รัตนวงษ์ สัญชาติลาว 4.นางจิตติมา ลัดตะมะวง สัญชาติลาว 5.นายน้อย รัตนวงษ์ สัญชาติลาว

ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังพบว่าสีกาจุ๋ม นั่งเครื่องบิน สายการบิน อีวา แอร์ (EVA Air) เที่ยวบิน BR67 ไปยังท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเวลา 12.50 น. วันที่ 5 มิ.ย.

คาดเป็นการหลบหนีคดี

นอกจากนี้ผบ.ตร.ยังสั่งการให้ตั้งกรรมการสอบวินัยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่รับผิดชอบหน้าที่ดูแลตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก บริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ที่ปล่อยให้พระพรหมเมธีใช้พาสปอร์ตผ่านแดนไปอย่างง่ายดาย

ต้องดูว่าบกพร่อง หรือร่วมเป็น 1 ในขบวนการพาหนี

เปิดเส้นทางหนีข้ามทวีป

และไม่ใช่แค่หลบหนีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อเช็กกล้องวงจรปิด พบความเคลื่อนไหวของอดีตพระพรหมเมธี ที่โรงแรมดงชัย เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน โดยออกเดินทางจากโรงแรมไปเมื่อช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 26 พ.ค. พร้อมหลานชายชื่อ โค้ด

จากนั้นทั้งคู่นั่งรถโดยสารไปยังประเทศกัมพูชา จากนั้นกบดานอยู่สักพัก จนกระทั่งเวลา 05.15 น. วันที่ 1 มิ.ย. อดีตพระพรหมเมธี และหลานชาย ขึ้นเครื่องบินสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ QR971 จากกรุงพนมเปญ แวะจอดที่สนามบินโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 06.23 น. จากนั้นไปยังสนามบินโดฮา ประเทศกาตาร์ แล้วต่อเครื่องไปยังท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

แต่สุดท้ายถูกตม.เยอรมนีจับกุมได้ ตามประกาศตามล่าตัวของประเทศไทย

โดยรายงานข่าวพบว่า อดีตพระพรหมเมธีเดินทางเข้าประเทศเยอรมนี โดยมีเป้าหมายไปยังสำนักงานผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เพื่อขอยื่นเรื่องเป็นผู้ลี้ภัย

ส่วนสาเหตุที่พระพรหมเมธีต้องหลบหนีและต้องขอสิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัยให้ได้ ไม่เหมือนพระเถระอีก 6 รูปที่ถูกออกหมายจับในคราวเดียวกัน เนื่องจากรู้ตัวว่ากระทำผิดร้ายแรง ไม่ใช่แค่คดีทุจริตเงินทอนวัดเท่านั้น

เพราะมีข้อมูลว่าอดีตพระพรหมเมธี มีมลทินที่มีสีกาใกล้ชิดไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยครั้ง และยังพาออกงานสำคัญๆ รวมถึงงานพิธีด้วย ทำให้เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด จึงตัดสินใจหลบหนีทันที

ขณะที่พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พร้อมทีมงานบินด่วนไปถึงแฟรงก์เฟิร์ต เพื่อขอตัวอดีตพระพรหมเมธี กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย

ยืนยันว่าเป็นคดีทุจริต ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่เข้าข่ายการขอลี้ภัย

ยื่นลี้ภัย-รอเยอรมันตัดสิน

อย่างไรก็ตามอดีตพระพรหมเมธี ก็ยื่นขอลี้ภัยเรียบร้อย ผ่านตม.เยอรมนี ต่อมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประเทศเยอรมนี ได้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังสำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BAMF)

1.เมื่อครั้งไม่มีหมายจับ / 2.หนีถึงแฟรงก์เฟิร์ต / 3.รถหรูพาหนี

และได้รับความคุ้มครองในทันที ตามระเบียบดับลิน (Dublin Regulation) เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรป และเยอรมนีต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951

โดยคำร้องขอลี้ภัยของอดีตพระพรหมเมธี หากถูกปฏิเสธ ก็สามารถยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อไปได้อีก โดยสำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BAMF) ใช้ระยะเวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน

ทั้งนี้การขอลี้ภัย มี 4 ประเภท ดังนี้ 1.ขอลี้ภัยทางการเมือง 2.ขอลี้ภัยในประเภทฐานะผู้ลี้ภัย 3.ขอรับความคุ้มครองเพียงบางส่วน และ 4.การขอคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังประเทศต้นทาง

คาดว่า อดีตพระพรหมเมธีขอยื่นลี้ภัยในประเภทที่ 1 ที่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือ ผู้ยื่นคำร้องแจ้งว่าถูกละเมิดเสรีภาพทางศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ และในประเภทที่ 2 ที่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือ ผู้ยื่นคำร้องแจ้งว่า ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ

ขณะที่ทางการไทย โดยพล.ต.อ.จักรทิพย์ที่เดินทางไปนั้น ไม่สามารถเข้าพบหรือสอบปากคำอดีตพระพรหมเมธีได้ ต้องรอให้ทางการเยอรมนีพิจารณาว่าจะให้สถานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ ซึ่งไทยได้ขอให้เยอรมนีเร่งพิจารณาให้เสร็จใน 3 วัน พร้อมยินดีส่งเอกสารชี้แจง ยืนยันว่าเป็นคดีทุจริตไม่ใช่การเมือง

ที่เหลือก็แค่รอลุ้นว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน