ทะลุคนทะลวงข่าว

ในการจัดสร้างพระเมรุมาศ สำหรับใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

รัฐบาลโดยคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

กรมศิลปากร ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการออกแบบก่อสร้างพระเมรุมาศ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา

อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ เปิดเผยว่า การออกแบบครั้งนี้ กำหนดกรอบแนวคิดไว้ 3 ประการ

1.ต้องสมพระเกียรติ เพราะครั้งนี้เป็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งงานถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ครั้งหลังสุดคือ ปี 2493 คือการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ฉะนั้น 60 กว่าปีที่ผ่านมามีเพียงพระเมรุของสมเด็จชั้นเจ้าฟ้า

2.ออกแบบตามหลักราชประเพณีโบราณ ยึดแบบสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะแบบของสมัยอยุธยานั้นเราไม่มีรูปแบบที่เป็นหลักฐาน เราจึงดูแบบพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

และ 3.การออกแบบครั้งนี้ยึดหลักไตรภูมิ ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา และความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือสมมติเทพ ตามระบบเทวนิยม

จาก 3 แนวคิดหลักนี้ ปรากฏเป็นแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ ใช้รูปแบบของราชวงศ์สมัยรัตนโกสินทร์ เป็นแบบทรงยอดบุษบก 9 ยอด

องค์หลักจะอยู่กึ่งกลาง อันหมายถึงเขาพระสุเมรุ อีก 8 มณฑป ที่อยู่รายรอบนั้น หมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ อันหมายถึงระบบจักรวาล

อนันต์ ชูโชติ ในฐานะคุมออกแบบพระเมรุมาศ

ลูกหม้อกระทรวงวัฒนธรรม ผ่านตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ในปี 2556 ก่อนไปนั่งผู้ตรวจราชการ ปี 2557 ปีเดียวกัน ย้ายมาเป็นรองปลัด

ก้าวขึ้นเป็นอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อต.ค. 2558

ทีมออกแบบพระเมรุบุษบก 9 ยอด ประกอบด้วย

สตวัน ฮ่มซ้าย ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร จบจากคณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เริ่มต้นรับราชการที่กองสถาปัตยกรรม เมื่อ 1 ก.พ. 2538 เติบโตเรื่อยมา ในตำแหน่งสถาปนิกชำนาญการพิเศษ 8, ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมไทยระดับ 9 รวมรับราชการมาเป็นเวลา 21 ปี

ธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกของกรมศิลปากร และ นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม

พระที่นั่งทรงธรรม ผู้ออกแบบประกอบด้วย จักรพันธ์ วัชระเรืองชัย สถาปนิก ชำนาญการ กรมศิลปากร

จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และสถาปัตยกรรมไทย ม.ศิลปากร

เคยรับผิดชอบการจัดสร้างเก้าอี้ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตัวแรกของประเทศ ไทย และเริ่มใช้งานครั้งแรกเมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่งนายกฯ

น.ส.ชาริณี อรรถจินดา สถาปนิกชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม

อาทิตย์ ลิ่มมั่น สถาปนิกชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม

จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ศิษย์เอกของ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ ผู้ล่วงลับ

เคยร่วมงานกันมามาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบพลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และควบคุมการสร้างพระเมรุ เมื่อครั้งพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

งานออกแบบและสร้างพลับพลาประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ที่โรงพยาบาลศิริราช

พระโกศจันทน์ ออกแบบโดย สมชาย ศุภลักษณ์อําไพพร นายช่างกรมศิลปกรรมอาวุโส

เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนม พรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2557 ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 ตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ.2549

พระเมรุมาศในครั้งนี้ จะใหญ่กว่า 4 ครั้งหลังที่ผ่านมา มีฐานกว้างด้านละ 60 เมตร มีความสูงถึง 50.49 เมตร และจะมีอาคารประกอบต่างๆ ทั้งพระที่นั่งทรงธรรม ที่มีขนาดความสูงถึง 20 เมตร สง่างามสม พระเกียรติ

สำหรับการออกแบบภูมิทัศน์ จะมีการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของพระองค์ เช่น กังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ การปลูกหญ้าแฝก จะถูกนำมาใช้ในการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์

ส่วนการสร้างพระโกศจันทน์ ขณะนี้แบบเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้วและเป็นไปตามราชประเพณีทุกประการ ซึ่งจะเริ่มสร้างพระโกศไม้จันทน์ช่วงต้นเดือนม.ค.2560 และพระโกศทองคำที่จะบรรจุพระบรมอัฐิ อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ

ทั้งนี้ การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน จะมีการบวงสรวงในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ โดยจะเป็นไปตามธรรมเนียมคติความเชื่อว่า ก่อนจะดำเนินการสร้างจะต้องมีการบูรณะราชรถ ราชยาน

สำนักช่างสิบหมู่ และกรมศิลปากร จะดำเนินการก่อสร้างได้ทันที หลังจากกรุงเทพมหานครส่งคืนพื้นที่สนามหลวง ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้

ทั้งหมดจะต้องแล้วเสร็จก่อนเดือนก.ย.2560

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน