บ.ก. ตอบจดหมาย

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

สืบเนื่องมาจากถนนในหมู่บ้านควนเย็น หมู่ที่ 14 ตำบลนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ชื่อถนนสายยุทธศาสตร์-ห้วยเรียน เจ้าของที่ยกให้เป็นถนนสาธารณะแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่เมื่อมาถึงรุ่นลูกแบ่งที่ดินกัน ไถกรีดตัดถนนที่เคยอุทิศยกเป็นถนนสาธารณะที่ความกว้าง 6 เมตร เพื่อนำกลับไปปลูกพืชผลทางการเกษตรคลุมพื้นที่ถนน เมื่อถามเจ้าของที่อธิบายว่า เปิดทางให้ใหม่ แต่ให้ใช้เฉพาะทางเท้ากว้าง 1.5 เมตรแทน โดยมีผู้ใหญ่ที่ดูแลพื้นที่อยู่เป็นผู้ลงนามให้ ทำให้สวนยางที่อยู่เหนือขึ้นไป ที่เป็นต้นยางเริ่มหมดอายุพร้อมๆกันกรีดน้ำยางไม่ได้แล้ว กำลังจะยื่นขอทุนเพื่อปลูกใหม่ทดแทนผ่านเส้นทางนี้ไม่ได้ มีผู้เดือดร้อนอย่างน้อย 15 ราย จึงร่วมลงชื่อทำหนังสือส่งไปยังกำนัน แล้วติดตามเรื่อง กำนันแจ้งว่าส่งเรื่องไปอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งเรื่องต่อไปยัง อบต.นาบอน แจ้งว่า เจ้าของที่ได้เปิดทางใหม่ให้แล้ว 1.5 เมตร

จึงนำเรื่องส่งต่อไปศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ดำรงธรรม นัดประชุมที่อบต.นาบอน เพื่อประชุมหาข้อสรุป ในวันที่ 17 สิงหาคม 2559 และวันที่ 19 สิงหาคม 2559 เมื่อสอบถามไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช อธิบายว่าอบต.นาบอนได้เปิดเส้นทางให้ใหม่ กว้าง 1.5 เมตร และยืนยันตามอบต.นาบอน โดยให้ใช้ถนนที่เปิดใหม่ 1.5 เมตรของอบต.นาบอน ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเปิดให้ใช้ถนนได้ตามปกติ เลยมีข้อสงสัยดังนี้

1) ที่ดินที่ยกให้เป็นที่ถนนสาธารณะแล้วกว้าง 6 เมตร สามารถเอาคืน โดยการยกที่ดินส่วนอื่นให้ 1.5 เมตร และผู้ใหญ่บ้านลงนามได้เลยหรือไม่ เพราะอบต.นาบอน และศูนย์ดำรงธรรมได้ยืนยันให้ใช้ถนนที่เปิดใหม่กว้าง 1.5 เมตร โดยไม่ได้กล่าวโทษกับเจ้าของที่ดินที่ไถกรีดถนนออก แล้วปลูกพืชผลทางการเกษตรแทน

2) ในครั้งที่มีการอุทิศที่ดินเพื่อทำถนน ได้รังวัดที่ดินเพื่อบันทึกไว้เป็นข้อมูลความยาวของถนนตลอดเส้น เพื่อของบประมาณการพัฒนาถนน แต่หน่วยงานอบต.นาบอน และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ได้มีการหยิบยกมาอธิบายให้เห็นว่าความเป็นจริงความยาวตลอดเส้นทางเท่าไหร่ในครั้งแรกที่ขออุทิศถนน แล้วงบประมาณที่ลงมาพัฒนาตามความยาวถนน ถ้าอบต.มีเหตุจะไม่สร้างถนนตามใบอุทิศจริง ก็ไม่อธิบายว่าไม่สร้างเพราะอะไร เพราะในใบอุทิศและชื่อโครงการระบุชัดเจนว่าโครงการ ถนนยุทธศาสตร์-ห้วยเรียน ซึ่งแปลกมากคือ ถ้ามีการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาปรับปรุงหรือทำถนน ต้องมีความยาวถนนที่ชัดเจน มีการสำรวจก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะของบมาปรับปรุง ซึ่งงบที่ขอมาทุกครั้งต้องขอตามความยาวถนน เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

3) เนื่องจากถนนเส้นนี้ก่อนจะมีการทำเอกสารอุทิศที่ดินให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ ก็ใช้กันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า หลังจากทำเอกสารอุทิศก็มีการของบประมาณลงมาหลายครั้งมากแล้ว ถ้าทุกครั้งที่มีการพัฒนาถนน เจ้าของที่ดินที่เกิดปัญหาข้อพิพาทไม่ยอมให้ทำการพัฒนาถนนตลอดความยาวของถนนคือครอบคลุม 300 เมตร สามารถตรวจสอบงบย้อนหลังได้หรือไม่

4) จึงขอร้องเรียน-ร้องทุกข์เพื่อตรวจสอบ โดยขออ้างหลักแพ่ง ม.1304-1307 มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน และพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 122 นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครอง ไม่มีส่วนไหนเลยที่กล่าวถึงผู้ใหญ่บ้านสามารถลงนามแล้วเอาถนนคืนได้

ร้องขอความเป็นธรรมกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านทางระบบออนไลน์ http://www.1111.go.th/ แต่ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอธิบายว่า ได้ส่งเรื่องต่อให้ศูนย์ดำรงธรรม และทางศูนย์ดำรงธรรมตอบกลับมายังสำนักงานนายกรัฐมนตรีว่าไม่สามารถติดต่อผู้ร้องได้ จึงเห็นควรให้ยกเลิก คำร้องถูกยุติ ทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ยุติเรื่องนี้

นายเด่นชัย สมรูป

ตอบ คุณเด่นชัย

สำนักปลัดสำนักนายกฯและศูนย์ดำรงธรรม โปรดตอบด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน