ทำไม “ปฏิกิริยา” ในทางสังคมที่มีต่อกรณี “ลักทรัพย์” ของบุคคลระดับ “รองอธิบดี” ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น จึงดำเนินไปอย่างค่อนข้างรุนแรงแข็งกร้าว

ทั้งที่เสียงจาก “รองนายกรัฐมนตรี” เสียงจาก “รัฐมนตรี” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย

ทั้งที่เสียงจากบรรดาเพื่อนข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็น “ปลัดกระทรวง” ไม่ว่าจะเป็น “อธิบดี” ต่างออกไปในทางปกป้อง

แต่กระแสในทาง “โซเชี่ยลมีเดีย” ทำท่าว่าจะไม่ยอมผ่อนปรน

ยิ่งการขับเคลื่อนจาก “สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย” ยิ่งดุเดือด ยิ่งการขับเคลื่อนจาก “เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น”

ยิ่งไม่ยอมลดราวาศอก

คำถามก็คือ สังคมไทยขาด “เมตตาธรรม” สังคมไทยโน้มเอียงไปถนนสายรุนแรง แข็งกร้าวอย่างชนิดสุดโต่งเกินไปหรือเปล่า

น้ำใจ ไมตรี ที่เคยมีให้กับกันและกัน หายไปไหน

ความจริง ท่วงทำนองอย่างที่มีการแสดงออกต่อการลักทรัพย์ของบุคคลระดับ “รองอธิบดี” มิได้เป็นเรื่องใหม่อะไรเลยในสังคมไทย

มีความเด่นชัดตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาแล้ว

คำว่า “โคตรโกง” คำว่า “โกงทั้งโคตร” ในการประณามหยามเหยียดก็เริ่มขึ้นบนเวทีปราศรัย ไม่ว่าจะเป็นที่เวทีลีลาศสวนลุมพินี

ความเคียดแค้น ชิงชัง “คนไม่ดี” แพร่กระจาย กว้างขวาง ไม่ยอมอยู่ร่วมแผ่นดิน

ยิ่งผ่านการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ความเคียดแค้นชิงชังยิ่งรุนแรง ล้ำลึก ถึงขนาดบุกยึดสถานที่ราชการ บุกยึดกระทั่งทำเนียบรัฐบาล บรรดาแม่ทัพนายกองแทนที่จะปกป้องกลับออกมาพูดว่า “ถ้าเป็นผมลาออกแล้ว” ออกโทรทัศน์ถ่ายทอดไปทั่วประเทศ

มาถึงก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งทวีความดุเดือด เข้มข้น

ความรู้สึกที่แสดงออกต่อพฤติการณ์บุคคลระดับ “รองอธิบดี” จึงมิได้เป็นเรื่องใหม่เอี่ยมอย่างชนิดถอดด้าม หากมองจากในห้วง 10 กว่าปีของสังคมไทย

ความขัดแย้ง แตกแยก กระจายไปเหมือนกับ “โรคระบาด”

ในเบื้องต้น เป้าหมายอาจเป็น “นักการเมือง” และขณะนี้ก็เริ่มเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า “ข้าราชการ” ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งซึ่งเพิ่มความเด่นชัด

มองในด้านดี เท่ากับชี้ชัดว่า คนไทยรังเกียจ “คนไม่ดี”

หากย้อนไปดูธงนำตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ถือว่าบรรลุเป้าหมาย

แต่ริ้วรอยที่ปรากฏคือ ความขัดแย้ง คือ ความแตกแยก

ถามว่าเหตุใดเมื่อมีการเสนอคำว่า “ปรองดอง” ขึ้นมา กระแสการตอบรับในทางสังคมจึงดังจากแทบทุกทิศ

คำตอบก็คือ ความขัดแย้ง ความแตกแยก ได้แผ่ลามอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ผู้คนเริ่มตระหนักในภัยอันตราย กว้างขวาง ลึกซึ้ง มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

จึงขานรับ “ปรองดอง” ทั้งๆ ที่นึกภาพไม่ออกว่าจะ “ปรองดอง” อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน