อารมณ์ สังคม ต้องการ การเลือกตั้ง ทางออก ประเทศ

อารมณ์ สังคม ต้องการ การเลือกตั้ง ทางออก ประเทศ – ไม่ว่าจะเป็นการประกาศอดข้าว อดนอน ประท้วงไม่ยอมให้กกต. “เลื่อน” การเลือกตั้งของหนุ่มใหญ่วัย 35 ในตอนเที่ยงคืนของวันที่ 8 มกราคม

ไม่ว่าการนัดเดินเท้าของกลุ่ม วอล์ก ทู โหวต ที่เชียงใหม่

ไม่ว่าการนัดชุมนุมที่ระยอง ไม่ว่าการนัดชุมนุมที่พระนครศรีอยุธยา ล้วนสัมพันธ์กับการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และการย้ายไปชุมนุมยังแยกราชประสงค์

ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “อยากเลือกตั้ง”

ปรากฏการณ์ในเดือนมกราคม 2562 ตอกย้ำ เน้นให้เห็นถึงปรากฏการณ์เมื่อเดือนมกราคม 2561 ออกมาอย่างเด่นชัด

ถนนทุกสายล้วนมุ่งไปสู่ “การเลือกตั้ง”

ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ยิ่งมีการเคลื่อนไหวในเดือนมกราคม 2562 คึกคักมากเพียงใด ยิ่งจะสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนมกราคม 2561

แสดงว่า “กลุ่มอยากเลือกตั้ง” เดินมาถูกทาง

เพราะหากไม่มีการเคลื่อนไหวอุ่นเครื่องและสร้างความรู้สึกร่วมตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2561 ก็คงไม่เกิดปรากฏการณ์ในเดือนมกราคม 2562 ด้วยความคึกคัก

เมื่อเดือนมกราคม 2561 พวกเขาถูกใครแจ้งความ กล่าวโทษ

ถามว่าเหตุใดในเดือนมกราคม 2562 มีความรุนแรง ดุดันมากยิ่งกว่าเมื่อเดือนมกราคม 2561 ทำไมจึงไม่มีการแจ้งความ กล่าวโทษ

นี่ย่อมเหมือนกับประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

จําได้หรือไม่ว่า บรรยากาศการทำ “ประชามติ” เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ดำเนินไปอย่าง “อ-ประชาธิปไตย” เด่นชัดและมากน้อยเพียงใด

เพราะเป็นบรรยากาศที่มีการกีดกัน กลั่นแกล้ง

ฝ่ายที่โฆษณาความดีงามของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญสามารถเคลื่อนไหวป่าวร้อง ไม่ว่าจะผ่านการชุมนุมไม่ว่าจะผ่านการประชุม

ตรงกันข้าม ฝ่ายที่คัดค้าน ต่อต้าน โดน “รวบตัว”

จากเดือนสิงหาคม 2559 กระทั่งทุกวันนี้หลายคนที่ตกเป็นจำเลย ถูกฟ้องร้อง ยังต้องเดินขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่

ยิ่งนับวันเรื่องเหล่านี้จะสร้าง “มลทิน” ให้กับ “รัฐธรรมนูญ”

สถานการณ์ทางการเมืองในเดือนมกราคม 2562 จึงไม่เพียงแต่จะแตกต่างจากสถานการณ์เมื่อเดือนมกราคม 2561

หากยังต่างไปจากสถานการณ์เดือนสิงหาคม 2559

ทั้งหมดนี้เท่ากับเป็นสัญญาณไม่เพียงแต่ 1 มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงอำนาจภายในคสช. หากแต่ 1 ประชาชนเริ่มมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในการแสดงความเรียกร้องต้องการ

และทุกอย่างก็รวมศูนย์ไปที่ “การเลือกตั้ง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน