แฟ้มคดี

 

เป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

สำหรับเหตุเรือนำเที่ยว 2 ชั้นอับปางในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 28 ศพ บาดเจ็บอีก 51 คน

จากทัวร์บุญของพี่น้องชาวมุสลิม กลับกลายเป็นความสูญเสีย

เพียงเพราะความประมาทของคนไม่กี่คน

รวมทั้งการไม่เอาใจใส่ดูแลของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

จนทำให้เกิดเหตุสลดซ้ำแล้วซ้ำอีก

จนกลายเป็นคำถามถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่าจะปล่อยปละละเลยกันอย่างนี้ต่อไป

หรือจะลงมือแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกต่อไป

  • คลี่เหตุเรือล่มตายสลด 28 ศพ

p0161250959p2

หลังจากเหตุเรือนำเที่ยว 2 ชั้น ที่ว่าจ้างมาจาก จ.นนทบุรี เกิดเหตุล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 ก.ย. จนมีผู้เสียชีวิต 28 คน บาดเจ็บอีก 51 คน ซึ่งจากการตรวจสอบสาเหตุพบว่าคนขับเรือแล่นมาด้วยความเร็ว จนกระทั่งถึงจุดเกิดเหตุช่วงทางโค้ง มีกระแสน้ำไหลแรง

เมื่อมีเรือบรรทุกวิ่งสวนมา ทำให้กระแสน้ำซัดจนบังคับเรือไม่ได้ พุ่งเข้าชนแพท่าน้ำจนจมลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเรือสมบัติมงคลชัยที่อับปางลงนั้น มีข้อกำหนดให้รับผู้โดยสารได้เพียง 50 คน แต่ในวันเกิดเหตุกลับมีคนอยู่ในเรือไม่ต่ำกว่า 120 คน ทำให้น้ำหนักเกินกว่าขีดจำกัด อีกทั้งเรื่องของเสื้อชูชีพก็มีไม่พอกับความต้องการ

นอกจากนี้ยังพบว่าที่ท่าเรือเกิดเหตุมีแท่นปูนยื่นออกมาถึง 5 เมตร แม้คนในพื้นที่บอกว่าไม่เคยมีปัญหาอะไร เพราะหากน้ำไม่สูงขนาดนี้ก็จะมองเห็น แต่เชื่อว่าน่ามีผล เพราะเรือที่เกิดอุบัติเหตุมาจากต่างถิ่น ไม่ชำนาญเส้นทาง

หลังสอบสวนเรื่องนี้ พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา แจ้งข้อกล่าวหาผู้ควบคุมเรือ คือนายวิรัช 5 ข้อหา 1.กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ 3.ควบคุมเรือขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุ 4.ควบคุมเรือโดยบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่ากำหนด และ 5.ใช้ยานพาหนะให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาได้รับสารภาพทุกข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนฝากขังผัดแรกไปแล้วโดยศาลไม่ให้ประกันตัว

ขณะที่กรมเจ้าท่าสั่งย้าย นางหทัยกาญจน์ เพ็ญกูล นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานนทบุรี ไปช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักมาตรฐานทะเบียนเรือ 2 สัปดาห์ เพราะเรือลำดังกล่าวไม่จัดทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด แต่นางหทัยกาญจน์ลงนามต่ออายุใบอนุญาตให้เมื่อเดือนมิ.ย. ซึ่งฝ่าฝืนกฎกระทรวงที่กำหนดให้การขอรับหรือต่อใบอนุญาตใช้เรือ

ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม แถลงว่า สั่งให้แก้ไขปัญหาตรวจสอบข้อเท็จจริงการกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จใน 10 วัน และให้ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของท่าเรือ ทั้งของสาธารณะและเอกชน ให้เสร็จใน 1 เดือน และตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของเรือโดยสาร การติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย และอุปกรณ์อื่นที่กฎหมายกำหนด ให้เสร็จภายใน 1 เดือน

ต่อจากนี้เรือโดยสารที่รับผู้โดยสาร 25 คนขึ้นไปต้องติดตั้งเครื่องติดตามเรือให้เสร็จภายในปี 2560 เพื่อจะได้ติดตามควบคุมได้ตลอด นอกจากนี้จะพิจารณาแก้ไขกฎหมายลงโทษผู้ฝ่าฝืนให้หนักขึ้นด้วย

ล้อมคอกอีกครั้งหรือไม่

 

  • แฉซิ่ง-ไม่ชินทาง-น้ำหนักเกิน

p0161250959p3

สำหรับเหตุสลดครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 18 ก.ย. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระนครศรีอยุธยา รับแจ้งเหตุเรือโดยสารล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา เหตุเกิดที่ท่าน้ำหน้าวัดสนามไชย หมู่ 9 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บจำนวนมาก

ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ห่างจากท่าน้ำวัดสนามไชยเพียง 5 เมตร พบเรือโดยสารขนาดใหญ่สีขาว 2 ชั้น ชื่อเรือสมบัติมงคลชัย อยู่ในสภาพเอียงขวา จมอยู่ในแม่น้ำมิดชั้นที่ 1 ผู้โดยสารชาย-หญิงที่นั่งมากับเรือต่างพากันหนีตายอย่างอลหม่าน บางส่วนกระโดดลงน้ำลอยคอ สิ่งของสัมภาระลอยเกลื่อนท่ามกลางกระแสน้ำไหลเชี่ยว

เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งช่วยเหลือนำตัวขึ้นฝั่งได้กว่า 40 คน หลายคนมีอาการสำลักน้ำหมดสติ ต้องปั๊มหัวใจก่อนนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตที่เดินทางมากับเรือ ถูกนำศพขึ้นมาวางเรียงรายอยู่บริเวณท่าน้ำ สร้างความสลดหดหู่เป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ จากการสอบสวนพบว่าเรือลำดังกล่าวเป็นเรือนำเที่ยว 2 ชั้น เป็น 1 ใน 15 ลำซึ่งถูกว่าจ้างให้มารับผู้โดยสารซึ่งเป็นชาวมุสลิม ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.สำเภาล่ม และ ต.ประตูชัย ไปทำกิจกรรมพบปะสังสรรค์ตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมานาน โดยจะล่องเรือจากมัสยิดตำบลหนึ่งไปอีกตำบล

โดยก่อนเกิดเหตุขบวนเรือทั้งหมดล่องเรือกันมาตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงช่วงที่จะเดินทางกลับผ่านหน้าวัดสนามไชย มีเรือบรรทุกวิ่งสวนทางมาในร่องน้ำเดียวกัน ทำให้คนขับเรือหักหลบ แล้วเสียหลักพุ่งชนแพท่าน้ำอย่างแรง ทำให้เรือจมลงอย่างรวดเร็ว

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เร่งระดมชุดประดาน้ำงมหาศพผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายกันตลอด 24 ชั่วโมง มีการตั้งศูนย์ส่วนหน้าที่บริเวณใกล้ท่าน้ำวัดสนามไชย ท่ามกลางญาติมิตรของผู้สูญหาย ที่มาเฝ้ารอดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ หวังจะให้เกิดปาฏิหาริย์

จนกระทั่งการทำงานผ่านไป 2 วัน เจ้าหน้าที่ก็สั่งยุติการค้นหาในวันที่ 20 ก.ย.

พร้อมสรุปยอดผู้เสียชีวิตที่งมขึ้นมาได้ 28 ราย โดยศพสุดท้ายที่นำขึ้นมาได้คือนางทองใบ ขันธรักษ์ อายุ 89 ปี ซึ่งพบลอยอยู่ใกล้กับโบสถ์โยเซฟ ห่างจุดเกิดเหตุ 5 กิโลเมตร

ส่วนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้มีทั้งหมด 51 ราย มี 8 รายที่ยังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

ขณะที่กรมเจ้าท่าประสานเรือเครนมากู้เรือลำดังกล่าวขึ้นมาเรียบร้อย รอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียด เพื่อเก็บรวบรวมไว้ในสำนวน

 

  • ย้อนรอยอุบัติเหตุสลด

สำหรับอุบัติเหตุทางน้ำในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และแต่ละครั้งก็นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมาก

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในทะเล อาทิ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559 สปีดโบ๊ตอ่างทอง ดิสคัฟเวอรี่ 3 บรรทุกนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 32 คน เกิดพลิกคว่ำกลางทะเล หลังจากออกจากหมู่เกาะอ่างทอง มุ่งหน้าไปยังท่าเทียบเรือบ่อผุด อ.เกาะสมุย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย สูญหาย 2 คน

เหตุเพราะคนขับเรือเร็วเกินไป ประกอบกับคลื่นสูง

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2553 เรือเพชรรัตน์ ซึ่งเป็นสปีดโบ๊ตนำนักท่องเที่ยวกลับจากงานฟูลมูนที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี มุ่งหน้าไปยังเกาะสมุย แต่ออกมาได้เพียง 10 นาทีก็ชนกับเรือของบริษัทซิลเวอร์ แซนด์ ที่นำนักท่องเที่ยวจากเกาะสมุยไปเที่ยวงานฟูลมูน ทำให้เรือพลิกคว่ำ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติร่วม 80 คนต้องลอยคออยู่ในทะเล จนมีเรือลำอื่นเข้าช่วยเหลือ แต่ก็มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2548 เกิดเหตุเรือสปีดโบ๊ตบรรทุกนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 คน กลับจากงานฉลองเทศกาลฟูลมูน เกิดพลิกคว่ำระหว่างมุ่งหน้าไปยังเกาะสมุย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย เนื่องจากเป็นระยะทางสั้น ทำให้ผู้โดยสารไม่ระมัดระวัง และไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ

นอกจากนี้พบว่าบรรทุกน้ำหนักเกิน เนื่องจากสปีดโบ๊ตลำดังกล่าวเป็นเรือขนาดเล็ก แต่กลับบรรทุกคนเกินขนาด จึงพลิกคว่ำทั้งที่ไม่มีคลื่นมาซัด

ส่วนอุบัติเหตุในแม่น้ำคงไม่มีเหตุการณ์ไหนรุนแรงสะเทือนขวัญกว่าเหตุโป๊ะล่มที่ท่าน้ำพรานนก เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2538 เมื่อโป๊ะเรือที่รับน้ำหนักทั้งประชาชน เด็กนักเรียน ที่กำลังรอเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 100 คน ที่เฮโลลงไป เกิดจมวูบลงในแม่น้ำอย่างรวดเร็ว ทุกคนหนีตายกันอลหม่าน

สุดท้ายมีเหยื่อสังเวยจากเหตุการณ์ครั้งนั้นถึง 30 ศพ

สำหรับที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนหน้านี้มีเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลของบริษัทไทยมารีนซัพพลาย 3 ลำบรรทุกน้ำตาลทรายแดง 2.4 ตัน จาก จ.อ่างทอง ไปส่งยังประเทศอินโดนีเซีย พุ่งชนต่อม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.ภูเขาทอง เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2554 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และส่งผลให้เกิดน้ำเน่าเสียเป็นบริเวณกว้าง

จนมาถึงเหตุเรือล่มครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 28 ราย บาดเจ็บ 51 คน

หากไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่จริงจังบังคับใช้เป็นรูปธรรม

ก็แค่รอเวลาให้เกิดซ้ำอีกเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน