การฆ่าประชาธิปไตย

คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

โดย วงศ์ ตาวัน

 

การฆ่าประชาธิปไตย – ด้วยผลการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.แบบเขต 137 คน มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ตอนนี้จึงต้องทำหน้าที่เป็นแกนนำของพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามกับคสช. ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยต้องต่อสู้กับพรรคพลังประชารัฐ แกนนำของอีกขั้ว ที่อ้างสิทธิ์เป็นอันดับ 1 เช่นกัน ด้วยคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต

กว่าจะสรุปเรียบร้อยลงตัว เป็นที่คาดหมายว่าศึกนี้คงยืดเยื้อยาวนานอีกพอสมควร

ระหว่างนี้ ลองมาดูความเคลื่อนไหวของแคนดิเดต นายกฯพรรคเพื่อไทยอีกคน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีข้อเสนอที่น่าสนใจ

โดยได้โพสต์เฟซบุ๊ก แนะนำหนังสือชื่อ “How Democracies Die” หรือ “ประชาธิปไตยตายได้อย่างไร”

บอกว่า เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ได้อธิบายถึงการเสื่อมถอยหรือการตายของประชาธิปไตยในหลายๆประเทศทั่วโลกซึ่งแบ่งได้เป็นสองรูปแบบ คือ

1.ตายด้วยปืน ซึ่งหมายถึงการปฏิวัติรัฐประหาร

2.ตายด้วยเผด็จการ ที่ใจจริงแล้วไม่ได้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย แต่แฝงมากับขบวนการตามระบอบประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจ

โดยในแบบแรกนั้น มีประเทศตัวอย่างเช่น อาร์เจนตินา บราซิล โดมินิกัน กานา กรีซ กัวเตมาลา ไนจีเรีย ปากีสถาน เปรู ตุรกี อุรุกวัย

ส่วนแบบที่ 2 ในแนวแอบแฝงมากับการเลือกตั้งนั้น ได้แก่ ฮิตเลอร์จากเยอรมัน ฮูโก ชาเวซ จากเวเนซุเอลา อัลเบอร์โต ฟูจิโมริ จากเปรู

นายชัชชาติได้อธิบายลงรายละเอียดว่า

ในหนังสือเล่มนี้เล่าว่า ผู้นำจากการเลือกตั้งในประเทศเหล่านี้ ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยการใช้องค์กรกลาง

เช่น ใช้ขบวนการยุติธรรมเป็นอาวุธ ซื้อหรือกดขี่สื่อไม่ให้แสดงความเห็น เขียนกฎใหม่เพื่อให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบทางการเมือง

โดยสิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือการใช้สถาบันต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย ในการค่อยๆ ฆ่าประชาธิปไตยเสียเอง!

นอกจากนี้ หนังสือยังให้แนวทางการพิจารณาว่า ใครเป็นเผด็จการที่แฝงมากับระบอบประชาธิปไตยนั้นดูได้จากตัวชี้วัดคือ

การไม่ยอมรับกติกาของประชาธิปไตย เช่น การล้มล้างรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลัง

การกล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ การกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่าอีกฝ่ายเป็นอาชญากร

หรือการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ใช้กฎหมายในการควบคุมการวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายตรงข้าม

นายชัชชาติทิ้งท้ายว่า หนังสือได้แนะนำการต่อสู้กับเผด็จการที่แฝงมากับการเลือกตั้งนั้น ฝ่ายที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยต้องร่วมมือกัน ถึงแม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันแต่ต้องเอาความอยู่รอดของ ประชาธิปไตยมาก่อน

“เนื้อหาในหนังสือน่าสนใจดีครับ บางเรื่องอาจนำมาใช้กับบ้านเราตอนนี้ได้”

อ่านแล้วก็น่าสนใจ นำมาคิดต่อได้ว่า ตรงกับสถานการณ์การเมืองไทยเราวันนี้อย่างไร!?

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน