วิเคราะห์การเมือง

 

ยังไม่ทันที่ “ข้อเสนอ” ของ นายสามารถ แก้วมีชัย จากพรรคเพื่อไทยที่ว่า “พร้อมจะจับมือกับทุกพรรค” ในการต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก

จะกลายเป็น “มติ” ภายใน “พรรคเพื่อไทย”

เสียงต้านจาก “บางส่วน” ภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็ดังขึ้นอย่างชนิดว่าทันความ ทันความ หรือที่โบราณเรียกว่า ยังไม่ทันชวด ฉลู ขาล เถาะ ด้วยซ้ำ

เห็นได้จากน้ำเสียงของ นายวัชระ เพชรทอง

“ตราบใดที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ไม่มีวันจะไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่เคยโกงกินแน่ ยืนยันพรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย”

แม้จะเป็นเสียงจากสมาชิกพรรคธรรมดา แต่ก็สำคัญ

สำคัญเพราะเท่ากับชี้ชัดว่า โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะรวมกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อให้ได้จำนวน 357 เพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีจากคนนอกเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

ทั้งนี้แทบไม่ต้องกล่าวถึงบทบาทของ 250 ส.ว.

ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นความขัดแย้งที่สามารถเข้าใจได้ และเป็นสภาพที่ยังดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง

ไม่ว่าจะมองผ่าน “ตัวบุคคล” ไม่ว่าจะมองผ่าน “นโยบาย”

ทุกครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกรุกไล่และตกอยู่ในวงล้อมทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะออกมาตอดนิด ตอดหน่อย เก็บคะแนนสะสมไปเรื่อย

เสียงของ นายวัชระ เพชรทอง จึงไม่ควรมองข้าม

เพราะเสียงในแบบเดียวกันนี้มิได้มาจาก นายวัชระ เพชรทอง เพียงคนเดียว หากแม้กระทั่ง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ หรือ นายถาวร เสนเนียม ตลอดจน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ก็ยังเป็นเสียงในกระบวนท่าเดียวกันกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

2 พรรคการเมืองนี้จึงดำเนินไปเหมือนขมิ้นกับปูน

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะชื่อว่าพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะชื่อว่าพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าจะชื่อว่าพรรคเพื่อไทย ล้วนเป็นพรรคที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมร่วมอย่างแน่นอน

เป็นบทบาทตั้งแต่การเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาแล้ว

เป็นบทบาทที่แสดงออกอย่างเข้มข้นทั้งในช่วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และในช่วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของ “พันธมิตร” ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของ “กปปส.”

โอกาสทางการเมืองของ “คณะรัฐประหาร” ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงอยู่บนฐานแห่งความขัดแย้งนี้อย่างมีนัยสำคัญ

ตรงนี้คือ “ฐาน” และ “โอกาส” ให้กับ “รัฐประหาร”

ตราบใดที่ 2 พรรคการเมืองนี้ไม่อาจเป็น “พันธมิตร” กันได้ ได้กลายเป็น “โอกาส” อย่างสูงในการเมืองอีกรูป

นั่นก็คือ 1 การเมืองที่จะดึงพรรคใดพรรคหนึ่งภายใน 2 พรรคการเมืองมาเป็นพันธมิตร นั่นก็คือ 1 การเมืองที่จะลดละทิฐิเก่าๆ ในทางการเมืองเพื่อหาทางสมานไมตรีระหว่าง 2 พรรคการเมือง

ใน 2 แนวทางนี้มีโอกาสเกิดขึ้นเพียงแนวทางใด แนวทางหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน